Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

อุปมาผู้ประพฤติพรหมจรรย์ดุจขอนไม้ลอยน้ำ | ทารุขันธสูตรที่ ๑

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
อุปมาผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ดุจขอนไม้ลอยน้ำ
ทารุขันธสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๒๒-๓๒๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 5:44 นาที
เวลาปฏิบัติ: 12:00 นาที

----------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวน ๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่ากระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด


ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้ จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานก็ฉันนั้นเหมือนกัน

คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖

คำว่า ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖

คำว่า จมในท่ามกลางเป็นชื่อแห่งนันทิราคะ

คำว่า เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา นี้เรียกว่ามนุษย์ผู้จับ

อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง นี้เรียกว่าอมนุษย์ผู้จับ

คำว่า เกลียวน้ำวน ๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕

ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าในภายใน

พระสูตร
ทารุขันธสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๒๒-๓๒๔