Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีน้อมจิตผู้ป่วยสู่นิพพาน | คิลายนสูตร

พุทธวิธีน้อมจิตผู้ป่วยสู่นิพพาน
คิลายนสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๖๒๗-๑๖๓๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 14:00 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18:00 นาที

----------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน

พระเจ้ามหานามศากยราช ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ยินมาว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉันยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า

ท่านจงเบาใจเถิดว่าท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ

อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว พึงถามอย่างนี้
ว่า

ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ

ถ้าเขากล่าวว่า เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใย ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใย ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า

ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่หรือ

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตร
และภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใย ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า

ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า

พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า

พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นดาวดึงส์...

พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา...

พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต...

พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี...

พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว
น้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด

ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า

จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสกผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน

พระสูตร
คิลายนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๖๒๗-๑๖๓๓