Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีตั้งจิตให้มั่นขณะเจริญภาวนา | ภิกขุณีสูตร

พุทธวิธีตั้งจิตให้มั่นขณะเจริญภาวนา
ภิกขุนีสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๗๑๔-๗๒๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 14:27 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20:00 นาที

----------

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง ภิกษุณีมากรูปเข้ามาหาข้าพระองค์ ไหว้ข้าพระองค์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้พูดกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณีมากรูปในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

เมื่อภิกษุณีทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ตอบว่า น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ข้อนี้เป็นอยางนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ พึงหวังได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
 
เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ ความเร่าร้อนมีกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอกก็ดี ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง

ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้

เมื่อตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ มีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแก่เราแล้ว บัดนี้เราจะคุมจิตไว้ เมื่อคุมจิตไว้ และไม่ตรึก ไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่า ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติในภายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้ด้วยประการดังนี้

ภาวนาย่อมมีเพราะมิได้ตั้งจิตไว้ภายนอก
 
ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตมิได้ตั้งไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตไม่ได้ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ได้ตั้งจิตไว้ในภายนอกดัวยประการดังนี้

ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ได้ตั้งจิตไว้อย่างนี้แล

ดูกรอานนท์
ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้ เราแสดงแล้ว
ภาวนาย่อมมีเพราะมิได้ตั้งจิตไว้ เราก็แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรอานนท์
กิจอันใดอันศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ มุ่งความอนุเคราะห์จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย

อานนท์
นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเรา สำหรับเธอทั้งหลาย

พระสูตร
ภิกขุนีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๗๑๔-๗๒๓