Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด | อปัณณกสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด
อปัณณกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๔๕๕

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 9:05 นาที
ปฏิบัติ : 15 นาที

-----------------------

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรม ๓ ประการ ที่ภิกษุประกอบแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ธรรม ๓ ประการคือ

เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑
เป็นผู้ประกอบความเพียร ๑

สำรวมอินทรีย์
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ย่อมไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ

ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้

ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์

ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้
 
รู้จักประมาณในโภชนะ
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่เพื่อจะประดับ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิว เพียงเพื่อกายนี้ตั้งอยู่ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไปเพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่าเราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความที่กายจักป็นไปได้นาน ความเป็นผู้ไม่มีโทษและความอยู่สำราญจักเกิดมีแก่เรา

ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รักจักประมาณในโภชนะอย่างนี้
 
ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน

ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดยามต้นแห่งราตรี

ตลอดยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ

ย่อมลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยาม
 
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้

 

พระสูตร
อปัณณกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๔๕๕