Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

วิปัสสนาโลกธรรม | โลกวิปัตติสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
วิปัสสนาโลกธรรม ๘
โลกวิปัตติสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๖

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

เสียง : 15:58 นาที
ปฏิบัติ : 30 นาที

----------------

โลกธรรม ๘ ประการย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑  สุข ๑ ทุกข์ ๑

ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ทั้งปุถุชนผู้ไม่ได้สดับและอริยสาวก

ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

เมื่อโลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

เขาย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่าโลกธรรม ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาได้

เขาย่อมยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ในนินทา ในทุกข์

เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุก

เมื่อโลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแก่อริยสาวก

อริยสาวกย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่าโลกธรรม ๘ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้

ท่านย่อมไม่ยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ในนินทา ในทุกข์

ท่านละความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์

นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ
ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑
ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑
นินทา ๑ สรรเสริญ ๑
สุข ๑ ทุกข์ ๑
เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ธรรมอันน่ารารถนาย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้
ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์
ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่
อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี
ไม่มีความศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง

 

พระสูตร
โลกวิปัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๖