Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ | กุณฑลิยสูตร

พุทธวิธีทำวิชชาและวิมุตติให้เจริญ
กุณฑลิยสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๙๔-๔๐๐

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

---------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปสู่บริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้าเดินไปเนือง ๆ เที่ยวไปเนือง ๆ สู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยาน ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะว่า

ดังนี้เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์

ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรกุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

ดูกรกุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ฟังเสียงที่ชอบใจด้วยหู ดมกลิ่นที่ชอบใจด้วยจมูก ลิ้มรสที่ชอบใจด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะที่ชอบใจด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจด้วยใจแล้ว

ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ฟังเสียงที่ไม่ชอบใจด้วยหู ดมกลิ่นที่ไม่ชอบใจด้วยจมูก ลิ้มรสที่ไม่ชอบใจด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะที่ไม่ชอบใจด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดี ในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

เพราะเหตุที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก  ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว เป็นผู้คงที่ ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายในหลุดพ้นดีแล้ว

อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แลย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ก็สุจริตเหล่านั้นอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญกายสุจริตเพื่อละกายทุจริต เจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต เจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริต

สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไรย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.

โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์

พระสูตร
กุณฑลิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๙๔-๔๐๐