Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

มัคคปฏิปทาเพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕) | มหามาลุงโกวาทสูตร

มัคคปฏิปทาเพื่อละ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
(สังโยชน์เบื้องต่ำ)
มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๕๓-๑๕๙

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

---------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่

ท่านพระมาลุงกยบุตรทูลตอบว่า

ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ข้าพระองค์จำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้

ดูกรมาลุงกยบุตร เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แก่ใครหนอ

ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียงด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กนี้ได้มิใช่หรือว่า ในเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้ความคิดว่า

กายของตน ก็ไม่มี สักกายะทิฏฐิจักเกิดขึ้นแต่ที่ไหน

แต่ส่วนสักกายทิฏฐิอันเป็นอนุสัยย่อมนอนเนื่องอยู่

ธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี ความสงสัยในธรรมทั้งหลายจักเกิดขึ้นแต่ที่ไหน

แต่ส่วนวิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยย่อมนอนเนื่องอยู่

ศีลทั้งหลาย ก็ไม่มี สีลัพพตปรามาสในศีลทั้งหลายจักเกิดขึ้นแต่ที่ไหน

แต่ส่วนสีลัพพตปรามาสอันเป็นอนุสัยย่อมนอนเนื่องอยู่

กามทั้งหลาย ก็ไม่มี กามฉันทะจักเกิดขึ้นแต่ที่ไหน

แต่ส่วนกามราคะอันเป็นอนุสัยย่อมนอนเนื่องอยู่

สัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่มี ความพยาบาทในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นแต่ที่ไหน

แต่ส่วนพยาบาทอันเป็นอนุสัยย่อมนอนเนื่องอยู่

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมถูกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท ครอบงำ กลุ้มรุม เมื่อสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านั้น ย่อมเป็นของมีกำลัง ละไม่ได้

ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วได้เห็นพระอริยะ เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว มีจิตอันสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท กลุ้มรุมไม่ได้ ครอบงำไม่ได้ และเมื่อสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาทเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท พร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

ข้อที่ว่าบุคคลจักไม่อาศัยมัคคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้ ครั้งนั้นบุรุษมีกำลัง พึงมาด้วยหวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงโดยสวัสดี เขาอาจจะว่ายตัดขวางกระแสแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

เมื่อธรรมอันผู้แสดง ๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเพื่อดับความเห็นว่า กายของตน จิตของผู้นั้นแล่นไป เลื่อมใส มั่นคง พ้น ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษมีกำลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

มัคคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ

เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในฌานนั้น ๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของมิใช่ตัวตน ย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ ตั้งอยู่ในวิปัสสนาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ถ้ายังไม่บรรลุย่อมเป็นโอปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕

เข้าอากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในฌานนั้น ๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของมิใช่ตัวตน ดำเนินจิตไปด้วยธรรมเหล่านั้น แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ถ้ายังไม่บรรลุย่อมเป็นโอปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕

พระสูตร
มหามาลุงโกฺยวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๕๓-๑๕๙