ธรรมอันเป็นฝ่ายให้เครื่องตรัสรู้เจริญ | สัมโพธิสูตร
พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ธรรมอันเป็นฝ่ายให้เครื่องตรัสรู้เจริญ
สัมโพธิสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๒๐๕
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 8:19 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที
----------
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างว่า
อะไรเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นเหตุข้อที่ ๑ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๒ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเห็นปานนั้น อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา (ความมักน้อย) สันตุฏฐิกถา (ความสันโดษ) ปวิเวกกถา (ความสงัด) อสังสัคคกถา (ความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสนกถา นี้เป็นเหตุข้อที่ ๓ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เป็นเหตุข้อที่ ๔ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นเหตุข้อที่ ๕ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ คือ
ตนจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
จักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต ฯลฯ
จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ฯลฯ
จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ ฯลฯ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ
พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท
พึงเจริญอานาปานสติเพื่อเข้าไปตัดวิตก
พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา
ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว