Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

การปฏิบัติโดยลำดับ | คณกโมกคัลลานสูตร (ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง)

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติโดยลำดับ
คณกโมคคลานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๙๓-๑๐๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

---------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา วิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์คณกโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ได้ทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า...

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์อาจเพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับในธรรมวินัยแม้นี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์ เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับในธรรมวินัยนี้ได้

ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเริ่มต้น ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า

ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด

เมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

มาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด

เธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว...
เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว...
เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว...
เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว...

เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด

เมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

มาเถิด เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ คือ

พึงบริโภคอาหาร พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อจะประดับ มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลย บริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อบรรเทาความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยอุบายนี้ เราจะป้องกันเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ ความอยู่สบายจักมีแก่เรา

เมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ คือ

จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน และตลอดปฐมยามแห่งราตรี

พึงเอาเท้าซ้อนเท้า มีสติรู้สึกตัว ทำความสำคัญว่า จะลุกขึ้น ไว้ในใจแล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี

จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด

เมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ

ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ
ในเวลาแลดูและเหลียวดู
ในเวลางอแขนและเหยียดแขน
ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตรและจีวร
ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส
ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่งเถิด

เมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้ ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า

 มาเถิด เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ละอภิชฌาในโลกแล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้

ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาทได้

ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้

เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค เรามีคำพร่ำสอนเห็นปาน ฉะนี้

ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพ  ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบาย ในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ

พระสูตร
คณกโมคคลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๙๓-๑๐๔