อุบายการเพื่อการสำรวมผัสสายตนะ | วีณาสูตร
อุบายการเพื่อการสำรวมผัสสายตนะ
วีณาสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๔๓-๓๔๕
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ : 10:41 นาที
เวลาปฏิบัติ : 18 นาที
---------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง หรือแม้ความคับแค้นใจ
ในรูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
ในเสียงอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยโสต
ในกลิ่นอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจมูก
ในรสอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น
ในโผฏฐัพพะอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยกาย
ในธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ
พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุหรือแก่ภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง
ภิกษุหรือภิกษุณีพึงห้ามจิตเสียจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ด้วยมนสิการว่า
หนทางนั้นมีภัย มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า มีหนาม มีรกชัฏ เป็นทางผิด เป็นทางที่บัณฑิตเกลียด และเป็นทางที่ไปลำบาก เป็นทางอันอสัตบุรุษเสพ ไม่ใช่ทางที่สัตบุรุษเสพ ท่านไม่ควรเสพหนทางนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้าถึงสมบูรณ์ แต่เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าเป็นผู้ประมาท และโคกินข้าวกล้าลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงถึงความเมา ความประมาทตามต้องการ แม้ฉันใด
ปุถุชนผู้ไม่สดับแล้ว ไม่ทำความสำรวมในผัสสายตนะ ๖ ย่อมถึงความเมา ความประมาทในกามคุณ ๕ ตามความต้องการฉันนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้าสมบูรณ์แล้ว เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าเป็นผู้ไม่ประมาท และโคกินข้าวกล้าพึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้า พึงจับโคนั้นสนสะพาย แล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้งสอง ครั้นแล้วพึงตีกระหน่ำด้วยท่อนไม้แล้วพึงปล่อยไป
โคตัวกินข้าวกล้าพึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓
เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าพึงจับโคสนสะพายแล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้ง ๒ ครั้นแล้วพึงตีกระหน่ำด้วยท่อนไม้ แล้วพึงปล่อยไป
โคกินข้าวกล้านั้นอยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี เป็นสัตว์ยืนมากหรือนอนมาก ไม่พึงลงสู่ข้าวกล้านั้นอีก พลางระลึกถึงการถูกตีด้วยไม้ครั้งก่อนนั้นนั่นแหละ ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวใด จิตอันภิกษุข่มแล้ว ข่มไว้ดีแล้ว ในผัสสายตนะ ๖ คราวนั้น จิตย่อมดำรงอยู่ สงบนิ่งในภายใน มีธรรมเอกผุดขึ้น ย่อมตั้งมั่น ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชา ยังไม่เคยได้ฟังเสียงพิณ เมื่อฟังเสียงพิณแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า นั่นเสียงอะไรหนอ น่าชอบใจ น่าใคร่ น่าบันเทิง น่าหมกมุ่น น่าพัวพันอย่างนี้
บุรุษนั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ เสียงนั้นเป็นเสียงพิณ
พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาพึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำพิณนั้นมาให้แก่เรา
ราชบุรุษทั้งหลายพึงนำพิณมาถวาย กราบทูลว่า นี่คือพิณนั้น
พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชานั้นกล่าวว่า ฉันไม่ต้องการพิณนั้น ท่านทั้งหลายจงนำเสียงพิณนั้นมาให้แก่เราเถิด
ราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ขึ้นชื่อว่าพิณนี้มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่าง คือ ธรรมดาว่าพิณนี้ อาศัยกระพอง อาศัยแท่น อาศัยลูกบิด อาศัยนม อาศัยสาย อาศัยคัน และอาศัยความพยายามของบุรุษซึ่งสมควรแก่พิณนั้น มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่างจึงจะเปล่งเสียงได้
พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาทรงผ่าพิณนั้น ๑๐ เสี่ยงหรือ ๑๐๐ เสี่ยง แล้วกระทำให้เป็นส่วนน้อย ๆ แล้วเผาด้วยไฟ แล้วทำให้เป็นเขม่า โปรยไปด้วยลมแรง หรือพึงลอยไปเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว
ท้าวเธอตรัสอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญได้ยินว่า ชื่อว่าพิณนี้เลวทราม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเลวทรามกว่าพิณนี้ไม่มี เพราะพิณนี้ คนต้องมัวเมา ประมาท หลงใหลจนเกินขอบเขต ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมแสวงหารูปเท่าที่มีคติ เวทนา... สัญญา... สังขารทั้งหลาย... วิญญาณเท่าที่มีคติอยู่
เมื่อเธอแสวงหารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่าที่มีคติอยู่ ความยึดถือโดยคติของภิกษุนั้นว่าเรา หรือว่าของเรา หรือว่าเป็นเรา แม้นั้นก็ไม่มีแก่เธอ