Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปริยายนิวรณ์ ๕ และโพชฌงค์ ๗ | ปริยายสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ปริยายนิวรณ์ ๕
และโพชฌงค์ ๗
ปริยายสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๔๗-๕๖๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์: 10:27 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

-------------

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลาย พึงถามอย่างนี้ว่า

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือ

พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลย และจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้ เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่าง เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้กามฉันทะในภายในก็เป็นนิวรณ์
แม้กามฉันทะในภายนอกก็เป็นนิวรณ์

คำว่า กามฉันทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ กามฉันทนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้พยาบาทในภายในก็เป็นนิวรณ์
แม้พยาบาทในภายนอกก็เป็นนิวรณ์

คำว่า พยาบาทนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์
แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์

คำว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์
แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์

คำว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายภายในก็เป็นนิวรณ์
แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นนิวรณ์

คำว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น ก็เป็น ๒ อย่าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วเป็น ๑๐ อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์
แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์

คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ธรรมทั้งหลายในภายในที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์
แม้ความเพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์

คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์
แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์

คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร ก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์

คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่า

แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

คำว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริยายนี้แล ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง

 

พระสูตร
ปริยายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๔๗-๕๖๗