Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

การทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ | อวิชชาสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
การทำวิชชาและวิมุตติ
ให้บริบูรณ์
อวิชชาสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๑

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์: 13:19 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที

-------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา

ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕

แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕

ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓

ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์

ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ

ควรกล่าวว่าการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา

ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

แม้การไม่ฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม

ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ

ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗

ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔

ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓

ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการสำรวมอินทรีย์

ควรกล่าวว่าความมีสติสัมปชัญญะ

แม้ความมีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความมีสติสัมปชัญญะ

ควรกล่าวว่าการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ควรกล่าวว่า ศรัทธา

แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา

ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

แม้การฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม

ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ

ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

พระสูตร
อวิชชาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๖๑