อริยวงศ์ที่เทวดาชื่นชม พรหมก็สรรเสริญ | อริยวังสสูตร
อริยวงศ์ที่เทวดาชื่นชม
พรหมก็สรรเสริญ
อริยวังสสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๘
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์: 10:30 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที
-------------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้ นักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด
อริยวงศ์ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออกใช้สอยอยู่
ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออก บริโภคอยู่
และย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญ
ว่าเป็นเลิศ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วย่อมไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออก บริโภคอยู่
และย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในภาวนา มีปหานะเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในปหานะ
ย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะมีภาวนาเป็นที่มายินดี เพราะยินดีในภาวนา เพราะมีปหานะเป็นที่มายินดี เพราะยินดีในปหานะนั้น
จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในภาวนาและปหานะนั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่า
เป็นเลิศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้แล นักปราชญ์รู้ว่าเลิศมีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย และไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด
ภิกษุผู้ประกอบด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้ ถึงแม้อยู่ในทิศตะวันออก เธอย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้ ถึงแม้เธออยู่ในทิศตะวันตก... ในทิศเหนือ... ในทิศใต้ เธอก็ย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเธอเป็นธีรชนครอบงำความไม่ยินดีและความยินดีได้
ความยินดีย่อมครอบงำธีรชนไม่ได้ ความไม่ยินดีไม่อาจครอบงำธีรชน ธีรชนย่อมครอบงำความไม่ยินดีได้
เพราะธีรชนเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี กิเลสอะไรจะมากั้นกางบุคคลผู้บรรเทากิเลสเสียได้ มีปรกติละกรรมทั้งปวงได้เด็ดขาด ใครควรเพื่อจะติเตียนบุคคลนั้นผู้เป็นประดุจแท่งทองชมพูนุท แม้เทวดาก็เชยชม แม้พรหมก็สรรเสริญ