Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ | จูฬอัสสปุรสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
ข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ
จูฬอัสสปุรสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์: 13:36 นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที

-------------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของหมู่อังคราชกุมาร เขตอังคชนบท ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญาว่า พวกเราเป็นสมณะ เมื่อพวกเธอนั้น มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ จึงควรศึกษาอยู่ว่า ข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของสมณะอันใดมีอยู่ เราทั้งหลายจะปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเราก็จักเป็นความจริง

ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้นก็จักมีผลมากมีอานิสงส์มากเพราะพวกเรา อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ

ก็อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
มีอภิชฌามาก ก็ละอภิชฌาเสียได้
มีจิตพยาบาทก็ ละพยาบาทเสียได้
มีความมักโกรธ ก็ละความมักโกรธเสียได้
มีความผูกโกรธ ก็ละความผูกโกรธเสียได้
มีความลบหลู่ ก็ละความลบหลู่เสียได้
มีความตีเสมอ ก็ละความตีเสมอเสียได้
มีความริษยา ก็ละความริษยาเสียได้
มีความตระหนี่ ก็ละความตระหนี่เสียได้
มีความโอ้อวด ก็ละความโอ้อวดเสียได้
มีมายา ก็ละมายาเสียได้
มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกเสียได้
มีความเห็นผิด ก็ละความเห็นผิดเสียได้

เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้ เราจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้วปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว นามกายก็สงบ เธอมีนามกายสงบแล้ว ก็เสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตก็ตั้งมั่น

เธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันกว้างขวาง ใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วนโดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณี มีน้ำใสจืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหน ๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร สกุลไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้นย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร สกุลไหนๆ ก็ตามบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ

เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยความรู้ยิ่ง โดยตนเองเขาถึงพร้อมแล้วอยู่ในชาตินี้ เรากล่าวว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย

 

 

 

 

พระสูตร
จูฬอัสสปุรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๘๒