Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ความสะอาด-ความไม่สะอาด | จุนทสูตร

ความสะอาด-ความไม่สะอาด
จุนทสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๖๕

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์: 19:27 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

--------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความสะอาดในวินัยของพระอริยะย่อมมีอย่างไรเล่า ขอประทานพระวโรกาส ความสะอาดในวินัยของพระอริยะมีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระ
องค์ด้วยประการนั้นเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง

ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง

เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต

เป็นผู้ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย

เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้มีความประพฤติล่วงเกินในสตรีที่มีครอบครัวรักษา ธรรมรักษา สตรีที่มีสามีหรือเจ้าของแล้ว

ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง

เป็นผู้พูดเท็จ อาจเพราะเหตุแห่งตนหรือผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย

เป็นผู้พูดส่อเสียด เอาคำพูดของฝ่ายหนึ่งไปพูดให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อหวังทำลายหรือยุยงส่งเสริมให้คนทั้งหลายแตกกัน ยินดีในความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน

เป็นผู้พูดคำหยาบ ทำให้ผู้อื่นข้องใจ เดือดร้อน มีความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ

เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดจาไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง ไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประโยชน์

ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง

เป็นผู้มีความอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

เป็นผู้มีจิตคิดปองร้ายต่อสัตว์อื่น

เป็นผู้มีความเห็นผิดว่า ทานที่บุคคลให้แล้วหรือการบูชาไม่มีผล ไม่มีผลแห่งกรรมดีและชั่ว ไม่มีโลกนี้และโลกหน้า ไม่มีมารดาบิดา สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะ สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มี

บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้  แม้จะทำประการใดก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นความไม่สะอาดและเป็นตัวทำให้ไม่สะอาดด้วย  

เพราะเหตุแห่งการประกอบอกุศลกรรมบท นรกจึงปรากฏ การเกิดเป็นเดรัจฉานจึงปรากฏ เปรตวิสัยจึงปรากฏ หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมี

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง

ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง

เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ มีความละอาย เอ็นดู กรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง

เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาของหรือทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย

เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ประพฤติล่วงเกินในสตรีที่มีครอบครัวรักษา ธรรมรักษา สตรีที่มีสามีหรือเจ้าของแล้ว

ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง

เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เพราะเหตุแห่งตนหรือผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย

เป็นผู้เว้นขาดจากคำส่อเสียด กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ยินดีในความพร้อมเพรียงกัน ไม่เอาคำพูดของฝ่ายหนึ่งไปพูดให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้คนแตกกัน

เป็นผู้เว้นขาดจากคำหยาบ พูดในสิ่งที่ไม่มีโทษ ไพเราะหู คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

เป็นผู้เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกเวลา พูดแต่คำที่เป็นจริง อิงอรรถ อิงธรรม มีหลักฐานอ้างอิง มีประโยชน์

ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง

เป็นผู้ไม่มีความอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

เป็นผู้ไม่มีจิตคิดปองร้ายต่อสัตว์อื่น ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ปรารถนาให้สัตว์อื่นมีสุข

เป็นผู้มีความเห็นชอบว่า ทานที่บุคคลให้แล้วหรือการบูชามีผล มีผลแห่งกรรมดีและชั่ว มีโลกนี้และโลกหน้า มีมารดาบิดา สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะ  สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มี

บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ แม้จะทำประการใดก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นความสะอาดและเป็นตัวทำให้สะอาดด้วย

เพราะเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมบท เทวดา มนุษย์ ย่อมปรากฏ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งจึงมี

 

 

พระสูตร
จุนทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๖๕