Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีตัดสังโยชน์เบื้องต่ำและทำอาสวะให้สิ้นไป | อุทานสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
พุทธวิธีตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ
และละอาสวะ
อุทานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๐๘-๑๑๑

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 15:47 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

--------

พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า

ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี การปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม

ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑

ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑

เขาย่อมไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตน อันปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่ ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันปัจจัยปรุงแต่ง จักมี

ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฯลฯ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม

ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ

ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ

เธอย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตน อันปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่ ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันปัจจัยปรุงแต่ง จักมี

ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่าง ๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้

เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็นลำดับ

ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะอันไม่ควร
สะดุ้งว่า

ถ้าเราไม่พึงมี แม้ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี

ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะอันไม่ควรสะดุ้งว่า

ถ้าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มีปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้

วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่

วิญญาณที่มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นอารมณ์ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์

ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไปจุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้ว เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงามไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป

เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อมเพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น. เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ

 

พระสูตร
อุทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๐๘-๑๑๑