Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีเจริญอานาปานสติเพื่อความสิ้นอาสวะ | อาสวักขยสูตร

พุทธวิธีเจริญอานาปานสติ
เพื่อความสิ้นอาสวะ
อาสวักขยสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๑๔๑๐

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 7:44 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

--------

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้สุข หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เรารู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตตสังขารหายใจออก หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิต หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก หายใจเข้า


ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจออก หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

 

พระสูตร
อาสวักขยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๑๔๑๐