Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ทางแห่งเนื้อความที่พึงรู้แจ้งด้วยอำนาจภาษา | นิรุตติปถสูตร

ทางแห่งเนื้อความ
ที่พึงรู้แจ้งด้วยอำนาจภาษา
นิรุตติปถสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๓๔-๑๓๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 10:05 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

--------

ณ พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา ชื่อ และบัญญัตินี้ ไม่ถูกทอดทิ้ง และยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ผู้วิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว

๓ ประการเป็นไฉน

๑. การนับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว

๒. การให้ชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นว่า ได้มีแล้ว

๓. การบัญญัติรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นว่า ได้มีแล้ว

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่าจักมี

๑. การนับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี

๒. การให้ชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นนั้นว่า จักมี

๓. และการบัญญัติรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นนั้นว่า จักมี

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่นับว่ามีอยู่ ไม่นับว่ามีแล้ว

๑. การนับรูปที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่

๒. การให้ชื่อรูปนั้นว่า มีอยู่

๓. และการบัญญัติรูปเช่นนั้นว่า มีอยู่

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่นับว่ามีแล้ว ไม่นับว่าจักมี

ดูกรภิกษุทั้งหลายวิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และบัญญัติ  เหล่านี้แล ไม่ถูกทอดทิ้งแล้วยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว

แม้ชนชาวอุกกลชนบท กับชนชาววัสสภัญญชนบททั้งสองนั้น ล้วนพูดว่าไม่มีเหตุ บุญบาปที่ทำไปแล้ว ไม่เป็นอันทำ ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ก็ได้สำคัญวิถีทาง ๓ ประการนี้ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และข้อบัญญัติว่า ไม่ควรติ ไม่ควรคัดค้าน

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะกลัวถูกนินทา กลัวกระทบกระทั่ง กลัวใส่โทษ และกลัวจะต่อความยาว

 

พระสูตร
นิรุตติปถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๓๔-๑๓๗