การเสวยเวทนาของอริยสาวก | สัลลัตถสูตร
การเสวยเวทนาของอริยสาวก
สัลลัตถสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อ ๓๖๙-๓๗๓
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 11:26 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที
--------
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน
ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ
เปรียบเหมือนนายธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางใจ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร
รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและทางใจ
เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา
เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง
เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้ อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง
เขาย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์
ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
เปรียบเหมือนนายธนูพึงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคือง
เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง
เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง
เธอย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์
นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความแปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน
ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดีและไม่ยินร้าย
อริยสาวกนั้นรู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลีและหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ