Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีกำหนดรู้อาหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น | ปุตตมังสสูตร

พุทธวิธีกำหนดรู้อาหาร  ๔
เพื่อความหลุดพ้น
ปุตตมังสสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๒๔๐-๒๔๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 11:29 นาที
เวลาปฏิบัติ: 18 นาที

--------

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด คือ

๑. กวฬิงการาหาร หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร
๓. มโนสัญเจตนาหาร
๔. วิญญาณาหาร

ก็กวฬิงการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามี ๒ คน ถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย ออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยน่ารักน่าพอใจอยู่คนหนึ่ง ขณะทั้งสองคนกำลังเดินไปในทางกันดารอยู่ เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดไป แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้ เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราได้หมดไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรคนเดียวคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพ้นทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้น เราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่

ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารัก น่าพอใจนั้นเสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองคน รับประทานเนื้อบุตรพลาง ค่อนอกพลางรำพันว่า ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้

เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร

เขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนอง หรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อความประดับประดาร่างกายใช่ไหม

ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็นกวฬิงการาหารว่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ

เมื่อกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

ก็ผัสสาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า แม่โคนมที่ไม่มีหนังหุ้ม ถ้ายืนพิงฝา ก็จะถูกพวกตัวสัตว์อาศัยฝาเจาะกิน ถ้ายืนพิงต้นไม้ ก็จะถูกพวกสัตว์อาศัยต้นไม้ไชกิน หากลงไปยืนแช่น้ำ ก็จะถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดและกัดกิน ถ้ายืนในที่ว่าง ก็จะถูกมวลสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดและจิกกิน แม่โคนมที่ไร้หนังหุ้มจะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ กัดกินอยู่ร่ำไป

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นผัสสาหารฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้ เมื่อกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่พึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ก็มโนสัญเจตนาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า มีหลุมถ่านเพลิงอยู่แห่งหนึ่ง ลึกมากกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน มีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์เดินมา บุรุษสองคนมีกำลังจับเขาที่แขนข้างละคนคร่าไปสู่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง เขามีเจตนาปรารถนาตั้งใจอยากจะให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิง เพราะเขารู้ว่า ถ้าเขาตกหลุมถ่านเพลิงนี้ ก็จักต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่าพึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว

เมื่อกำหนดรู้ตัณหาทั้งสามได้แล้ว เรากล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่พึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

ก็วิญญาณาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้วแสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด

จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า จงประหารเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า

ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่ว่า เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน

ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกอย่างนี้ว่า เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขา
พากันกราบทูลว่า เขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น
เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน

เมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็น
เหตุเท่านั้น มิใช่หรือ

เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยความทุกข์โทมนัสซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ จะกล่าวไปไยถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า

ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า จะพึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว

เมื่อกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

 

 

พระสูตร
ปุตตมังสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๒๔๐-๒๔๔