Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

การแสวงหาที่ประเสริฐ | ปาสราสิสูตร

การแสวงหาที่ประเสริฐ
ปาสราสิสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๓๑๒-๓๒๐

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 19:10 นาที
เวลาปฏิบัติ: 25 นาที

--------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามีสองอย่าง คือ การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเรียกว่า สิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา

บุตร ภรรยา ทอง เงิน ทาสหญิง ทาสชาย ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า เรียกว่า สิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ

ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด ไม่แก่ หาพยาธิมิได้ ไม่ตาย หาความโศกมิได้ ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือการแสวงหาที่ประเสริฐ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก่อนตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่ทีเดียว ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว ก็เสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร  อาฬารดาบส กาลามโคตร บอกอากิญจัญญายตนสมาบัติแก่เรา

เราคิดว่ามิใช่แต่อาฬารดาบสเท่านั้น ที่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน มิฉะนั้น เราต้องเริ่มบำเพ็ญเพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรบอกว่า กระทำให้แจ้ง เข้าถึงอยู่ได้ เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง

ต่อมาไม่นานนัก เราก็กระทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น เข้าถึงอยู่ได้ เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง แต่เราคิดว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ และนิพพาน เพียงเป็นไปเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเป็นผู้เสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐ ซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ ได้เข้าไปหาอุททกดาบส รามบุตร อุททกดาบสจึงบอกเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแก่เรา

เราคิดว่ามิใช่แต่อาฬารดาบส รามบุตรเท่านั้น ที่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แม้เราก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน มิฉะนั้น เราต้องเริ่มบำเพ็ญเพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรบอกว่า กระทำให้แจ้ง เข้าถึงอยู่ได้ เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง

ต่อมาไม่นานนัก เราก็กระทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น เข้าถึงอยู่ได้ เพราะรู้ยิ่งโดยตนเอง แต่เราคิดว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ และนิพพาน เพียงเป็นไปเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

เรานั้นเป็นผู้ชอบเสาะหาว่ากุศลเป็นอย่างไร ขณะที่แสวงหาทางสงบระงับอันประเสริฐ ซึ่งหาทางอื่นยิ่งกว่ามิได้ เมื่อเที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์หนอ เป็นที่สมควรเริ่มบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการจะบำเพ็ญเพียร เราจึงนั่ง ณ ที่นั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราโดยตนเอง เป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก สังกิเลส เป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิด ไม่แก่ หาพยาธิมิได้ ไม่ตาย หาความโศกมิได้ ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

และญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป

พระสูตร
ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๓๑๒-๓๒๐