วิปัสสนาตัณหากองใหญ่ | มหาตัณหาสังขยสูตร
วิปัสสนาตัณหากองใหญ่
มหาตัณหาสังขยสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๔๐-๔๕๘
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 73 นาที
เวลาปฏิบัติ: 90 นาที
--------
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น
พระผู้มีพระภาคตรัสถามสาติภิกษุว่า
ดูกรสาติ เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร
สาติภิกษุทูลว่า
สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้น ๆ นั่นเป็นวิญญาณ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า
วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี
เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ความเห็นนั้นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้น ๆ
วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ
วิญญาณอาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ
วิญญาณอาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ
วิญญาณอาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ
วิญญาณอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ
วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ
บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้เกิดแล้ว ขันธปัญจกเกิดเพราะอาหารนั้น ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้
หากว่า เธอทั้งหลาย ไม่ติดอยู่ ไม่เพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถือเป็นของเรา
อยู่ ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงรู้ธรรมที่เปรียบด้วยทุ่นอันเราแสดงแล้ว เพื่อประโยชน์ในอันสลัดออก ไม่ใช่แสดงแล้ว เพื่อประโยชน์ในอันถือไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความตั้งอยู่แห่งเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง คือ กวฬิงการาหาร อันหยาบ หรือละเอียด (เป็นที่ ๑) ผัสสาหารเป็นที่ ๒ มโนสัญเจตนาหารเป็นที่ ๓ วิญญาณาหารเป็นที่ ๔
อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นชาติ มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นชาติ มีเวทนาเป็นแดนเกิด
เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นสมุทัย มีผัสสะเป็นชาติ มีผัสสะเป็นแดนเกิด
ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นสมุทัย มีสฬายตนะเป็นชาติ มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นสมุทัย มีนามรูปเป็นชาติ มีนามรูปเป็นแดนเกิด
นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นสมุทัย มีวิญญาณเป็นชาติ มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นสมุทัย มีสังขารเป็นชาติ มีสังขารเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นชาติ มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย
นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย
ด้วยประการฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น
เพราะอวิชชาดับหมดมิได้เหลือ สังขารก็ดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็ดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่าในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่า ไม่ได้มีแล้ว เราได้เป็นอะไรแล้ว หรือว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร หรือเราได้เป็นอะไรแล้ว จึงเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า ในอนาคตกาล เราจักมี หรือว่าจักไม่มี เราจักเป็นอะไร หรือว่าเราจักเป็นอย่างไร หรือเราจักเป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ปรารภถึงปัจจุบันกาล ในบัดนี้ ยังสงสัยขันธ์เป็นภายในว่า เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี เราย่อมเป็นอะไร หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร สัตว์นี้มาแล้วจากไหน สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ไหน ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวอย่างนี้ ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวว่า พระสมณะตรัสอย่างนี้ พระสมณะทั้งหลายและพวกเรา ย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่น ดังนี้บ้างหรือไม่
พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงเชื่อถือสมาทานวัตรความตื่นเพราะทิฏฐิ และทิฏฐาทิมงคล ของพวกสมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก ดังนี้บ้างหรือไม่
สิ่งใดที่พวกเธอรู้เห็นทราบเองแล้ว พวกเธอพึงกล่าวถึงสิ่งนั้นมิใช่หรือ
ข้อที่กล่าวนั้นถูกละ พวกเธออันเรานำเข้าไปแล้ว ด้วยธรรมนี้อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏ ความเกิดแห่งทารกก็มี
กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ
รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ
เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต
กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ
รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย
อันน่าปรารถนา น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก
กุมารนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง
ได้ยินเสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตแล้ว ย่อมกำหนัดในเสียงที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง
ดมกลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ ย่อมกำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง
ลิ้มรสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น ย่อมกำหนัดในรสที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรสที่น่าชัง
ถูกต้องโผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย ย่อมกำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง
ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามก ตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ
เวทนานั้นอยู่
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
คฤหบดี บุตรคฤหบดี ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต
เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้สันโดษด้วยจีวและบิณฑบาต
ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ฯลฯ
ได้ยินเสียงด้วยโสต...
ดมกลิ่นด้วยฆานะ...
ลิ้มรสด้วยลิ้น...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ฯลฯ
ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด เธอกลับจากบิณฑบาต ในกาลภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้
ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้
ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้
ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิกิจฉาได้
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตอันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยได้แล้วกำลัง สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน...
บรรลุทุติยฌาน...
บรรลุตติยฌาน...
บรรลุจตุตถฌาน...
ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง
ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ไม่กำหนัดในเสียงที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง
ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ไม่กำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง
ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่กำหนัดในรสที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรสที่น่าชัง
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง
เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง
เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น
เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้อย่างนี้