อารมณ์ที่ไม่ควรเที่ยวไป - กามคุณ ๕ (เรื่องลิงติดตัง) | มักกฏสูตร
อารมณ์ที่ไม่ควรเที่ยวไป
(เรื่องลิงติดตัง)
มักกฏสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๗๐๑-๗๐๓
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ: 8:24 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที
--------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์มีอยู่
ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ เป็นที่เที่ยวของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์มีอยู่
ภูมิภาคแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่
ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้น เห็นดังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง
ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือจับ มือก็ติดตัง มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่าจักปลดมือออก มือข้างที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออกเท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก
ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้ นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ยุบยับแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา
พรานแทงลิงตัวนั้นแล้วจึงยกขึ้นไว้ในที่นั้นเอง ไม่ละทิ้ง หลีกไปตามความปรารถนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์
ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร
คือ กามคุณ ๕ คือ
รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ
เสียงที่พึงรู้ด้วยหู
กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก
รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย
นี้คืออารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ
เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์
ก็อารมณ์อันเป็นของบิดา อันเป็นโคจร คืออะไร
คือ สติปัฏฐาน ๔
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ