ฐานะที่บุคคลควรพิจารณาเนือง ๆ | ฐานสูตร
ฐานะที่บุคคลควรพิจารณาเนือง ๆ
ฐานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๕๗
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดีโอ 15:59 นาที
เวลาปฏิบัติ 25 นาที
-----
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ๕ คือ
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒.เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความไม่มีโรคมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในความมีชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความมีชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความรักใคร่ในของรักมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้
อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้
โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้
ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงล้วนจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
ไม่ใช่เราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีกรรมเป็นของตน ฯลฯ โดยที่แท้ สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของตน ฯลฯ
เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ อบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพอบรม ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป
สัตว์ทั้งหลายย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามธรรมดา
พวกปุถุชนย่อมเกลียด ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น ในพวกสัตว์ผู้มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้เป็นอยู่อย่างนี้
เรานั้นเป็นอยู่อย่างนี้ ทราบธรรมที่หาอุปธิมิได้ เห็นการออกบวชโดยเป็นธรรมเกษม ครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค ในความเป็นหนุ่มสาว และในชีวิต ความอุตสาหะได้มีแล้วแก่เราผู้เห็นเฉพาะซึ่งนิพพาน
บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อเสพกามทั้งหลายจักเป็นผู้ประพฤติไม่ถอยหลัง ตั้งหน้าประพฤติพรหมจรรย์