Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปัญหาของท้าวสักกะ | สักกปัญหสูตร

ปัญหาของท้าวสักกะ
สักกปัญหสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๔๕-๒๖๒

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

วีดิทัศน์ 25:36 นาที
ปฏิบัติ 40 นาที

----------

พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหากะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่าดูกรท้าววาสพ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัย เพื่อจะตรัสถามปัญหาไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้น ๆ แก่พระองค์

ท้าวสักกะจอมเทพ อันพระผู้มีพระภาคทรงให้โอกาสแล้ว ได้ทูลถามปัญหาข้อแรกกะพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันใจไว้ ชนเป็นอันมากเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท ย่อมปรารถนาเป็นผู้ไม่มีเวร ไฉน เขายังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่

พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีความริษยา และความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันใจไว้ ชนเป็นอันมากเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญาไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท ย่อมปรารถนาเป็นผู้ไม่มีเวร ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่

ก็ความริษยาและความตระหนี่ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นแดนเกิด

เมื่ออะไรมี ความริษยาและความตระหนี่จึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

ความริษยาและความตระหนี่ มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นแดนเกิด

เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี
เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นแดนเกิด

เมื่ออะไรมี  อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี  
เมื่ออะไรไม่มี  อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี

อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นแดนเกิด

เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี
เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี

ความพอใจมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นแดนเกิด

เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี

ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นแดนเกิด

เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี
เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี

ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ  มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นแดนเกิด

เมื่ออะไรมี ความตรึกจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความตรึกจึงไม่มี

ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นแดนเกิด

เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมมี ความตรึกจึงมี
เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมไม่มี ความตรึกจึงไม่มี

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงจะชื่อว่าดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม

เมื่อบุคคลเสพโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม โสมนัส โทมนัส อุเบกขานั้น ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัส โทมนัส อุเบกขานั้น ควรเสพ

ถ้าโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใดมีวิตก มีวิจาร อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับแห่งส่วนสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์

เมื่อบุคคลเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหา อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม กายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหานั้น ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหา อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหานั้น ควรเสพ

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้  จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อสำรวมในปาติโมกข์

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์

เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรม อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมนั้น ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรม อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น รูป เสียงกลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมนั้น ควรเสพ

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกัน เพราะโลกมีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกันนั้น สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใด ๆ อยู่ ย่อมยึดมั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดถือ กล่าวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า  เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกัน

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหรือไม่

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมิได้มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน

ก็เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วนไม่มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน

ภิกษุเหล่าใดน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ภิกษุเหล่านั้นมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วน ไม่มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน


ท้าวสักกะ จอมเทพ ทรงชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ตัณหาเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดในภพนั้น ๆ เพราะฉะนั้น บุรุษนี้ย่อมถึงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ

ปัญหาเหล่าใด ที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้ซึ่งการกระทำโอกาสในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระธรรมวินัยนี้ ปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นกาลไกล โปรดพยากรณ์แก่ข้าพระองค์แล้ว และลูกศรคือความสงสัยเคลือบแคลงของข้าพระองค์พระผู้มีพระภาคทรงถอนขึ้นแล้ว

 

 

พระสูตร
สักกปัญหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๔๕-๒๖๒