Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีปฏิบัติเพื่อความดับแห่งอินทรีย์ ๕ | อุปปฏิกสูตร

พุทธวิธีปฏิบัติ
เพื่อความดับแห่งอินทรีย์ ๕
อุปปฏิกสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๙๕๖-๙๖๑

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 12:46 นาที
เวลาปฏิบัติ 20 นาที

_____

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ

ทุกขินทรีย์ ๑
โทมนัสสินทรีย์ ๑
สุขินทรีย์ ๑
โสมนัสสินทรีย์ ๑
อุเปกขินทรีย์ ๑

ทุกขินทรีย์

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ทุกขินทรีย์เกิดขึ้น

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และทุกขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

เธอย่อมรู้ชัดทุกขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งทุกขินทรีย์ ความดับแห่งทุกขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ก็ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งทุกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น

โทมนัสสินทรีย์

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว โทมนัสสินทรีย์เกิดขึ้น

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า โทมนัสสินทรีย์เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และโทมนัสสินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

เธอย่อมรู้ชัดโทมนัสสินทรีย์ เหตุเกิดแห่งโทมนัสสินทรีย์ ความดับแห่งโทมนัสสินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งโทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว

โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโทมนัสสินทรีย์และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น

สุขินทรีย์

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีความเด็ดเดี่ยว สุขินทรีย์เกิดขึ้น

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า สุขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และสุขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

เธอย่อมรู้ชัดสุขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งสุขินทรีย์ ความดับแห่งสุขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งสุขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว

สุขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข สุขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งสุขินทรีย์และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น

โสมนัสสินทรีย์

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว โสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้น

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า โสมนัสสินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และโสมนัสสินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

เธอย่อมรู้ชัดโสมนัสสินทรีย์ เหตุเกิดแห่งโสมนัสสินทรีย์ ความดับแห่งโสมนัสสินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งโสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว

โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข และละทุกข์ละสุขและดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโสมนัสสินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น

เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อุเปกขินทรีย์เกิดขึ้น

อุเปกขินทรีย์

เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อุเปกขินทรีย์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และอุเปกขินทรีย์นั้นมีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

เธอย่อมรู้ชัดอุเปกขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งอุเปกขินทรีย์ ความดับแห่งอุเปกขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ก็อุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อุเปกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งอุเปกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น

 

 

 

พระสูตร
อุปปฏิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๙๕๖-๙๖๑