ผู้เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น | สคารวสูตร
ผู้เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
สคารวสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๖๐๑-๖๒๖
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ 16:34 นาที
เวลาปฏิบัติ 20 นาที
_____
สังคารวพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ไม่ทำการสาธยาย และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ไม่ได้ทำการสาธยายตลอดกาลนาน ก็แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา กลุ้มรุม อันกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ที่เกิดขึ้นแล้ว
สมัยนั้น บุคคลย่อมไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย
ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย
ดูกรพราหมณ์ ก็สมัยใดแล บุคคลมีใจอันกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ไม่กลุ้มรุม อันกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ที่เกิดขึ้นแล้ว
สมัยนั้น บุคคลย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย
ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย
ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์แม้ทั้ง ๗ นี้ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุติ
โพชฌงค์ ๗ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์ ๗ นี้แลไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุติ