Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ทุกข์ของผู้บริโภคกาม | อิณสูตร

ทุกข์ของผู้บริโภคกาม
อิณสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๑๖

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 12:04 นาที
เวลาปฏิบัติ 20 นาที

_____

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก

รับใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน

คนจนเข็ญใจยากไร้นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ

เรากล่าวการประพฤติทุจริตของเขาว่า เป็นการกู้ยืม

เขาย่อมตั้งความปรารถนาเพราะเหตุแห่งการปกปิดกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นั้นว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกาย ว่า นั้น ย่อม
ปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกายว่าชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา

เรากล่าวเหตุการปกปิดทุจริตของเขานั้นว่า เป็นการรับใช้ดอกเบี้ย

เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้

เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่า เป็นการทวงดอกเบี้ย

อกุศลวิตกที่เป็นบาปประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมครอบงำเขาผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ในเรือนว่าง

เรากล่าวการถูกอกุศลวิตกครอบงำนี้ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา

คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำในเรือนจำ คือ นรก หรือกำเนิดดิรัจฉาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตรายแก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือกำเนิดดิรัจฉานเลย

ก็การจองจำนั้นเป็นทุกข์ ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้ บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลาย ที่ได้มาโดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสองของผู้มีศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ

ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแลเราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุข ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน

เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส ยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตาจิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติ จิตของเขาย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะทราบเหตุในนิพพาน เป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง

หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มีโศก หมดมัวหมองเป็นญาณเกษม สูงสุดกว่าความไม่มีหนี้

 

พระสูตร
อิณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๑๖