Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

กินติสูตร | พุทโธวาทเรื่องความสามัคคี

พุทโธวาทเรื่องความสามัคคี
กินติสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๔๒-๕๐

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 18:24 นาที
เวลาปฏิบัติ 25 นาที
______

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าชัฏ สถานที่บวงสรวงพลี เขตเมืองกุสินารา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมเหล่าใดที่พระองค์ทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ภิกษุทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น

เมื่อมีการกล่าวต่างกันในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

เมื่อภิกษุพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุสองรูปกล่าวต่างกันในธรรม

ถ้าพวกภิกษุเห็นว่าในภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ

เข้าไปหาภิกษุรูปที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวแก่ท่านนั้นว่า ท่านทั้งสองมีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบความต่างกันโดยอาการที่ต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะนี้ ท่านทั้งสองอย่าถึงต้องวิวาทกันเลย

ต่อจากนั้น เข้าไปหาภิกษุอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวอย่างเดียวกัน

แล้วจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ถ้าในภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะต่างกันแต่โดยอรรถ ย่อมลงกันได้โดยพยัญชนะ

เข้าไปหาภิกษุรูปที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวแก่ท่านนั้นว่า แล้วกล่าวแก่ท่านนั้นว่า ท่านทั้งสองมีวาทะต่างกันแต่โดยอรรถ ย่อมลงกันได้โดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบความต่างกันโดยอาการที่ลงกันได้โดยพยัญชนะ ท่านทั้งสองอย่าถึงต้องวิวาทกันเลย

ต่อจากนั้น เข้าไปหาภิกษุอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวอย่างเดียวกัน

แล้วจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิด และจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ถ้าในภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะลงกันได้โดยอรรถ ยังต่างกันแต่โดยพยัญชนะ

เข้าไปหาภิกษุรูปที่ว่าง่ายกว่า  แล้วกล่าวแก่ท่านว่า ท่านมีวาทะลงกันได้โดยอรรถ ยังต่างกันแต่โดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบความต่างกันโดยอาการที่ลงกันได้โดยอรรถต่างกันแต่โดยพยัญชนะ ก็เรื่องพยัญชนะนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ท่านทั้งสองอย่าถึงต้องวิวาทกันในเรื่องเล็กน้อยเลย

ต่อจากนั้น เข้าไปหาภิกษุอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวอย่างเดียวกัน

แล้วจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูก และจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

ถ้าในภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะสมกัน ลงกันทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ

เข้าไปหาภิกษุรูปที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวแก่ท่านนี้ว่า ท่านทั้งสองมีวาทะสมกันลงกันทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบคำที่ต่างกันโดยอาการที่สมกัน ลงกันได้ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ท่านทั้งสองอย่าถึงต้องวิวาทกันเลย

ต่อจากนั้น เข้าไปหาภิกษุอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกันที่ว่าง่ายกว่า แล้วกล่าวอย่างเดียวกัน

แล้วจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้  ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น


เมื่ออาบัติเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งพึงมีอาบัติ ล่วงละเมิดบัญญัติ อย่าเพิ่งโจทภิกษุรูปนั้นด้วยข้อโจท พึงใคร่ครวญบุคคลก่อนว่า

ด้วยอาการนี้ ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่มีทิฐิมั่น ย่อมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ว่า ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา แต่ความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น แต่ย่อมสละคืนได้ง่าย และอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้

ก็เรื่องความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้ เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้เป็นเรื่องใหญ่กว่า

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา แต่ความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ แต่มีทิฐิมั่น ยอมสละคืนได้ง่าย และอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้

ก็เรื่องความลำบากของเรา เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้เป็นเรื่องใหญ่กว่า

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น สละคืนได้ยาก แต่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้

ก็เรื่องความลำบากของเราและความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้เป็นเรื่องใหญ่กว่า

ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด

แต่ถ้ามีความเห็นอย่างนี้ว่า ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติเป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น สละคืนได้ยาก ทั้งก็ไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ พวกเธอก็ต้องไม่ละเลยอุเบกขาในบุคคลเช่นนี้


เมื่อมีการแข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บ ไม่ยินดีต่อกัน

เมื่อภิกษุนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่

เกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน ไม่ยินดีต่อกันขึ้น

ภิกษุรูปใดว่าง่าย พึงเข้าไปหารูปนั้น แล้วกล่าวว่า เรื่องที่พวกเราเกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน ไม่ยินดีต่อกันขึ้นนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบจะพึงทรงติเตียนได้

แล้วถามต่อไปว่า ภิกษุไม่ละภาวะที่ดำรงอยู่นี้ จะทำนิพพานให้แจ้งได้หรือ

จากนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุอื่น ๆ ที่ว่าง่ายที่เป็นฝ่ายเดียวกัน แล้วกล่าวอย่างเดียวกัน

ถ้าภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นถามว่า ท่านให้ภิกษุเหล่านั้น (ที่พูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ฯลฯ)  ออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลแล้วหรือ

พึงพยากรณ์ว่า ในเรื่องนี้ตนได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ตนได้บอกแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้แล้ว

ภิกษุเมื่อพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ยกตน ไม่ข่มคนอื่น พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมด้วย ทั้งการกล่าวก่อนและการกล่าวตามกันอะไร ๆ อันชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิด้วย

 

พระสูตร
กินติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๔ ข้อ ๔๒-๕๐