Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ผู้ประกอบด้วยธรรมให้เป็นนาบุญของโลก | ธัมมัญญูสูตร

ผู้ประกอบด้วยธรรม
ให้เป็นนาบุญของโลก
ธัมมัญญูสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๖๕

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 13:44 นาที
เวลาปฏิบัติ 18 นาที

______


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เป็นธัมมัญญู รู้จักธรรม ๑
อัตถัญญู รู้จักอรรถ ๑
อัตตัญญู รู้จักตน ๑
มัตตัญญู รู้จักประมาณ ๑
กาลัญญู รู้จักกาล ๑
ปริสัญญู รู้จักบริษัท ๑  
ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ภิกษุเป็นธัมมัญญู ด้วยประการฉะนี้

ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ ภิกษุเป็นอัตถัญญู ด้วยประการฉะนี้

ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เท่านี้ ถ้าภิกษุไม่พึงรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู ภิกษุเป็นอัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้

ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุเป็นมัตตัญญู ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น ภิกษุเป็นกาลัญญู ด้วยประการฉะนี้

ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ ภิกษุเป็นปริสัญญู ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ

บุคคล ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ
พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ

พวกที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
พวกที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม
พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม

พวกที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุ
พวกที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม
พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม

พวกที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
พวกที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้
พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้

พวกที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
พวกที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้

พวกที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
พวกที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

พวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
พวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

พวกที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น พวกที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ ฉะนี้ ภิกษุเป็นบุคคลปโรปรัญญูด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

 

พระสูตร
ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๖๕