Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรม | สมถสูตร

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อ
ความเจริญแห่งกุศลธรรม
สมถสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๕๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 15:11 นาที
เวลาปฏิบัติ 25 นาที

______

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร

เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปรกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมพยายามกำจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย ถ้าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นว่า เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด

การพิจารณาของภิกษุว่า เราเป็นผู้ได้ความสงบจิตภายในหรือหนอ หรือว่าไม่เป็นผู้ได้
ความสงบจิตภายใน เราเป็นผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งหรือหนอ หรือ
ว่าเราไม่เป็นผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดังนี้ ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ว่า
ตนได้ความสงบจิตภายใน
ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในความสงบจิตภายในแล้ว พึงทำความเพียรในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ต่อมา ภิกษุนั้นย่อมได้ความสงบจิตภายใน และได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ว่า
ตนได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ไม่ได้ความสงบจิตภายใน

ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว พึงทำความเพียรในความสงบจิตภายใน ต่อมา ภิกษุนั้นย่อมได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง และได้ความสงบจิตภายใน

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ว่า
ตนไม่ได้ความสงบจิตภายใน
ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อได้ซึ่งกุศลธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะ ถูกไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้นนั่นเทียว แม้ฉันใด

ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อได้ซึ่งกุศลธรรมเหล่านั้นนั่นเทียว
ฉันนั้นเหมือนกัน

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ว่า
ตนได้ความสงบจิตภายใน
ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น แล้วพึงทำความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ โดยส่วนสอง  คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบ้านและนิคม ชนบทและประเทศ โดยส่วนสอง  คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบุคคล โดยส่วนสอง คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ใดภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะนี้ อกุศลธรรมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป จีวร บิณฑบาต เสนาสนะเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

จีวร บิณฑบาต เสนาสนะใดภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพจีวร บิณฑบาต เสนาสนะนี้ อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง จีวร บิณฑบาต เสนาสนะเห็นปานนี้ ควรเสพ

บ้านและนิคม ชนบทและประเทศใด ภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพบ้านและนิคม ชนบทและประเทศใดนี้ อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป บ้านและนิคม ชนบทและประเทศใดเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

บ้านและนิคมใดภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพบ้านและนิคมนี้ อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง บ้านและนิคมนี้ ควรเสพ

บุคคลใดภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพบุคคลนี้ อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

บุคคลใดภิกษุรู้ว่า เมื่อเสพบุคคลนี้ อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ

 

พระสูตร
สมถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๕๔