พระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใสของตนในพระพุทธเจ้า | สัมปสาทนียสูตร
พระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใส
ของตนในพระพุทธเจ้า
สัมปสาทนียสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่ม ๑๑ ข้อ ๗๓-๙๓
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
วีดิทัศน์ 51:35 นาที
ปฏิบัติ 60 นาที
_____
ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจานี้ประเสริฐแท้ เธอบันลือสีหนาทซึ่งเธอถือเอาโดยเฉพาะว่า ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ
ก็เธอกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งได้มีแล้วในอดีต ในอนาคต และรู้เรา ณ บัดนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นได้มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีพระปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ ได้หรือ
ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
ดูกรสารีบุตร ก็เธอไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันเหล่านั้น เหตุไฉน เธอจึงหาญกล่าวอาสภิวาจาอันประเสริฐนี้ บันลือสีหนาท
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงว่าข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็จริง แต่ข้าพระองค์ก็ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรมได้
พระผู้มีพระภาคที่ได้มีแล้วในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ล้วนทรงละนิวรณ์ ๕ มีพระมนัสตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ประณีต ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาด้วยประการใด ข้าพเจ้าก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ได้ถึงความสำเร็จธรรมบางส่วนในธรรมทั้งหลาย จึงเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคว่า
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายบัญญัติอายตนะ คือ
อายตนะภายในและอายตนะภายนอก อย่างละ ๖ คือ
จักษุกับรูป
โสตกับเสียง
ฆานะกับกลิ่น
ชิวหากับรส
กายกับโผฏฐัพพะ
มนะกับธรรมารมณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในการก้าวลงสู่ครรภ์ ๔ คือ
๑. ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ อยู่ในครรภ์ คลอดจากครรภ์
๒. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ แต่ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์ คลอดจากครรภ์
๓. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ อยู่ในครรภ์ แต่ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์
๔. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์ อยู่ในครรภ์ คลอดจากครรภ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในวิธีดักใจคน ๔ อย่าง คือ
๑. ดักใจได้ด้วยนิมิต
๒. ดักใจได้ด้วยฟังเสียงของมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลาย
๓. ดักใจได้ด้วยฟังเสียงละเมอของผู้วิตก วิจาร
๔. ดักใจได้ด้วยกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิซึ่งยังมีวิตก วิจาร ด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในทัศนสมาบัติ ๔ อย่าง คือ
สมณะหรือพราหมณ์บางคนได้บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว
๑. พิจารณาเห็นว่ากายนี้ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ
๒. พิจารณาเห็นว่ากายนี้ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ฯลฯ ก้าวล่วงผิวหนัง เนื้อ และเลือด เห็นกระดูก
๓. พิจารณาเห็นว่ากายนี้ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ฯลฯ เห็นกระดูก และรู้กระแสวิญญาณซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ที่ตั้งอยู่ในปรโลกได้
๔. พิจารณาเห็นว่ากายนี้ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ฯลฯ เห็นกระดูก และรู้กระแสวิญญาณซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ที่ไม่ตั้งอยู่ในปรโลก
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายบุคคลบัญญัติ ๗ คือ
อุภโตภาควิมุตติ ๑
ปัญญาวิมุตติ ๑
กายสักขิ ๑
ทิฏฐิปัตตะ ๑
สัทธาวิมุตติ ๑
ธรรมานุสารี ๑
สัทธานุสารี ๑
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายปฏิปทา ๔ คือ
๑. ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะปฏิบัติลำบาก และเพราะรู้ได้ช้า
๒. ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะปฏิบัติลำบาก
๓. ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก แต่รู้ได้ช้า
เป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะรู้ได้ช้า
๔. ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
เป็นปฏิปทาประณีต เพราะปฏิบัติสะดวก และเพราะรู้ได้เร็ว
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายภัสสสมาจาร คือ
ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท
ไม่กล่าววาจาส่อเสียดอันทำความแตกร้าวกัน
ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน
ไม่มุ่งความชนะ
กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญาอันควรไว้ในใจ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ
มีสัจจะ มีศรัทธา ไม่พูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ทำความสม่ำเสมอประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดดี และมีปฏิภาณ มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญารักษาตน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอนุสาสนวิธี ๔ อย่าง คือ
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบด้วยมนสิการเฉพาะพระองค์ว่า
๑. บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระโสดาบัน
๒. ...จักเป็นพระสกทาคามี...