Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีบำบัดความระคายใจ | นาคสูตร

พุทธวิธีบำบัดความระคายใจ
นาคสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔๔

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 11:38 นาที
เวลาปฏิบัติ 18 นาที

______

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าเที่ยวหากิน ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินไปข้างหน้า

กัดปลายหญ้าไว้ด้วน
กัดกินกิ่งไม้ที่ช้างตัวประเสริฐหักลงไว้

ช้างตัวประเสริฐนั้น ย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น

เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าลงสู่สระ ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินออกหน้า เอางวงสูบน้ำให้ขุ่น ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น ดู

เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าขึ้นจากสระ ช้างพังทั้งหลายย่อมเดินเสียดสีกายไป ช้างตัวประเสริฐย่อมอิดหนาระอาใจ รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น

ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง เรากินหญ้ายอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างทั้งหลายกินแล้วๆ ดื่มน้ำที่ขุ่นมัว และเมื่อเราขึ้นจากสระ ช้างพังทั้งหลายย่อมเดินเสียดสีกายไป

ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียวเถิด

ช้างตัวประเสริฐนั้น หลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน กินกิ่งไม้ที่ไม่มีช้างอื่นเล็ม ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว เมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกาย

สมัยนั้น ช้างตัวประเสริฐย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง กินหญ้ายอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างอื่นเล็มแล้วๆ ดื่ม
น้ำขุ่นมัว และเมื่อเราขึ้นจากสระ ช้างพังยังเดินเสียดสีกายเราไป บัดนี้ เราหลีก
ออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างอื่นไม่เล็ม ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว และเมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกายเราไป ดังนี้ ช้างตัวประเสริฐนั้นเอางวงหักกิ่งไม้มาปัดกาย มีใจชื่นชม บำบัดโรคต่อมคัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด ภิกษุเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์สาวกของ
เดียรถีย์

สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว

เธอเสพเสนาสนะที่สงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เบื้องหน้า

ละอภิชฌาในโลกเสีย มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา

ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาท

ละถีนมิทธะ ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน มีความสำคัญในแสงสว่างอยู่ มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่เคลือบแคลงสงสัยในกุศลทั้งหลาย ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

...บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอมีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
เธอบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
บรรลุจตุตถฌาน มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้

บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฯลฯ มีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้

บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอมีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้

 

พระสูตร
นาคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔๔