ที่เกิดแห่งทิฏฐิ | ติตถสูตร
ที่เกิดแห่งทิฏฐิ
ติตถสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๕๑๒
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ 23:20 นาที
เวลาปฏิบัติ 30 นาที
_____
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลัทธิของเดียรถีย์ ๓ อย่างนี้ ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างลัทธิสืบ ๆ มา ตั้งอยู่ในอกิริยทิฐิ ๓ อย่าง คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ
๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่หาเหตุหาปัจจัยมิได้
พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนมีแต่กรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ
เราก็จะกล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ จักต้องลักทรัพย์ จักต้องประพฤติกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ จักต้องพูดเท็จ จักต้องพูดคำส่อเสียด จักต้องพูดคำหยาบ จักต้องพูดคำเพ้อเจ้อ จักต้องมากไปด้วยอภิชฌา จักต้องมีจิตพยาบาท จักต้องมีความเห็นผิด
ก็เมื่อบุคคลยึดถือกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนโดยความเป็นแก่นสาร ความพอใจหรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือว่ากิจนี้ไม่ควรทำ ย่อมจะมีไม่ได้
ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตัว ย่อมจะสำเร็จไม่ได้แก่ผู้มีสติฟั่นเฟือน ไร้เครื่องป้องกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะสำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรมอย่างนี้แลเป็นข้อแรก
พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ
เราก็จะกล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ จักต้องลักทรัพย์ ฯลฯ
ก็เมื่อบุคคลยึดถือการสร้างสรรของอิสรชนโดยความเป็นแก่นสาร ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะสำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรมอย่างนี้แลเป็นข้อที่ ๒
พวกที่มีมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่หาเหตุหาปัจจัยมิได้
เราก็จะกล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ จักต้องลักทรัพย์ ฯลฯ
เมื่อบุคคลยึดถือความไม่มีเหตุไว้โดยความเป็นแก่นสาร ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะสำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรมอย่างนี้แลเป็นข้อที่ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนธรรมที่เราแสดงไว้นี้แลคนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้าน โดยสมณพราหมณ์ผู้รู้
ก็ธรรมที่เราแสดงไว้แล้วเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า ธาตุหก ผัสสายตนะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ อริยสัจ ๔ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้
เพราะอาศัยอะไรจึงได้กล่าวไว้ดังนั้น
ธาตุ ๖ เหล่านี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ
ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ อายตนะเป็นเหตุแห่งผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เ
มโนปวิจาร ๑๘ คือ
บุคคลเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมเข้าไปไตร่ตรองรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส
เข้าไปไตร่ตรองรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส
เข้าไปไตร่ตรองรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
อริยสัจ ๔
เพราะถือมั่นธาตุ ๖ สัตว์จึงลงสู่ครรภ์ เมื่อมีการลงสู่ครรภ์ จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เราบัญญัติว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
แก่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่
ทุกขอริยสัจเป็นไฉน
แม้ชาติก็เป็นทุกข์ ฯลฯ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้
ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน
เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ กองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ
ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า ธาตุ ๖ ผัสสายตนะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ อริยสัจ ๔ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ เราได้กล่าวไว้ดังนี้