การจำแนกธรรมที่ไม่มีกิเลส | อรณวิภังคสูตร
พุทธวิธีจำแนกธรรม
ที่ไม่มีกิเลส
อรณวิภังคสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๕๓-๖๗๒
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ 35:59 นาที
เวลาปฏิบัติ 45 นาที
______
00:00 intro
00:20 อุทเทสแห่งอรณวิภังค์
02:36 ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งที่สุด ๒ อย่าง
05:50 การปฏิบัติปานกลาง
08:21 รู้จักการยกยอ การตำหนิ การแสดงธรรม
18:20 รู้จักการตัดสินความสุข
23:21 ไม่พูดลับหลัง ไม่ล่วงเกินต่อหน้า
28:29 ไม่รีบพูด
30:45 ไม่ปรักปรำภาษาท้องถิ่น ไม่ล่วงเลยคำสามัญ
34:37 สรุป
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี ได้ทรงแสดงอุเทศแห่งอรณวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลาย
อุเทสแห่งอรณวิภังค์
ไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งสุขอาศัยกามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ความปฏิบัติสายกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้ เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสุขภายใน
ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า
พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน
ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย
ธรรมยังมีกิเลส
ความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขเพราะสืบต่อกามอันเลว
ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบากอันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การยกยอ การตำหนิ ไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม
วาทะลับหลังซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
วาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้า ซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
คำที่ผู้รีบด่วนพูด
การปรักปรำภาษาชนบท และการล่วงเลยคำพูดสามัญ
นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส
ธรรมไม่มีกิเลส
การไม่ตามประกอบความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกามอันเลว
การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ความปฏิบัติสายกลางอันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
การไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
วาทะลับหลังซึ่งจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์
คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์
คำที่ไม่รีบด่วนพูด
สุขที่เกิดจากปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตถฌาณ สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้
การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ
นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แลว่า เราทั้งหลายจักรู้ธรรมยังมีกิเลส และรู้ธรรมไม่มีกิเลส ครั้นรู้แล้ว จักปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลส