Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส | สัลเลขสูตร

ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส
สัลเลขสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๑๐๐-๑๐๙

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 18:40 นาที
เวลาปฏิบัติ 30 นาที

-----

ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระจุนทะว่า

- อุบายละทิฏฐิ -

ดูกรจุนทะ ทิฏฐิเหล่านี้มีหลายประการ ประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง การกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ใด และท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์ใด เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นอารมณ์นั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ของเรา เรามิใช่นั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยอุบายอย่างนี้

- ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข -

ดูกรจุนทะ ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุปฐมฌาน บรรลุทุติยฌาน บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน บรรลุเนวสัญญานาสัญญาญตนฌาน

ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส แต่ธรรมคือฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ

- ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส -

ดูกรจุนทะ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้ คือ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน เราจะเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เราจะเว้นจากการฆ่าสัตว์

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลักทรัพย์ เราจะเว้นจากการลักทรัพย์

ชนเหล่าอื่นจักเสพเมถุนธรรม เราจักประพฤติพรหมจรรย์

ชนเหล่าอื่นจักกล่าวเท็จ เราจะเว้นจากการพูดเท็จ

ชนเหล่าอื่นจักกล่าวส่อเสียด เราจะเว้นจากการพูดส่อเสียด

ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำหยาบ เราจะเว้นจากการพูดคำหยาบ

ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำเพ้อเจ้อ เราจะเว้นจากการพูดพ้อเจ้อ

ชนเหล่าอื่นจักมักเพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น เราจะจักไม่เพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น

ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท เราจะไม่มีจิตพยาบาท

ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด เราจะมีความเห็นชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด เราจักมีความดำริชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีวาจาผิด เราจะมีวาจาชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีการงานผิด เราจะมีการงานชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีอาชีพผิด เราจะมีอาชีพชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีความเพียรผิด เราจะมีความเพียรชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีสติผิด เราจะมีสติชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีสมาธิผิด เราจะมีสมาธิชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีญาณผิด เราจะมีญาณชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีวิมุติผิด เราจะมีวิมุติชอบ

ชนเหล่าอื่นจักถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม เราจะปราศจากถีนมิทธะ

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เราจะเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน

ชนเหล่าอื่นจักมีวิจิกิจฉา เราจะข้ามพ้นจากวิจิกิจฉา

ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ เราจะไม่มีความโกรธ

ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธไว้ เราจักไม่ผูกโกรธไว้

ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน เราจะไม่ลบหลู่คุณท่าน

ชนเหล่าอื่นจักยกตนเทียมท่าน เราจะไม่ยกตนเทียมท่าน

ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา เราจะไม่มีความริษยา

ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ เราจะไม่มีความตระหนี่

ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด เราจะไม่โอ้อวด

ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา เราจะไม่มีมารยา

ชนเหล่าอื่นจักดื้อด้าน เราจะไม่ดื้อด้าน

ชนเหล่าอื่นจักดูหมิ่นท่าน เราจะไม่ดูหมิ่นท่าน

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ว่ายาก เราจะเป็นผู้ว่าง่าย

ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว เราจะมีกัลยาณมิตร

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนประมาท เราจะไม่ประมาท

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนไม่มีศรัทธา เราจักเป็นคนมีศรัทธา

ชนเหล่าอื่นจักไม่มีหิริ เราจักเป็นผู้มีหิริในใจ

ชนเหล่าอื่นจักไม่มีโอตตัปปะ เราจะเป็นผู้มีโอตตัปปะ

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสุตะน้อย เราจะเป็นผู้มีสุตะมาก

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนเกียจคร้าน เราจะเป็นผู้ปรารภความเพียร

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสติหลงลืม เราจะเป็นผู้มีสติดำรงมั่น

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนมีปัญญาทราม เราจะเป็นคนถึงพร้อมด้วยปัญญา

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก เราจะไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย

- การตั้งจิตให้เกิดขึ้น -

ดูกรจุนทะ เราย่อมกล่าวแม้จิตตุปบาทว่ามีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะต้องกล่าวไปไยในการทำให้สำเร็จ ด้วยกาย ด้วยวาจาเล่า

เพราะเหตุนั้นแหละ จุนทะ เธอทั้งหลายพึงให้จิตเกิดขึ้นว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน ฯลฯ

เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย

- ทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว -

ดูกรจุนทะ เปรียบเหมือนทางที่ไม่เรียบ ก็พึงมีทางเส้นอื่นที่เรียบ สำหรับหลีกทางที่ไม่ราบเรียบนั้น

เปรียบเหมือนท่าที่ไม่ราบเรียบ ก็พึงมีท่าอื่นที่ราบเรียบ สำหรับหลีกท่าที่ไม่ราบเรียบนั้น

ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เบียดเบียน ฯลฯ

ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนทิฏฐิได้โดยง่าย เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก

- ทางสู่เบื้องบน -

เปรียบเหมือนอกุศลธรรมทั้งมวล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องล่าง กุศลธรรมทั้งมวล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องบน ฉันใด

ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้เบียดเบียน ฯลฯ

ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนทิฏฐิได้โดยง่าย เป็นทางสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก

- ทางสู่ความดับสนิท -

ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้

ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปลือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้

ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด

ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้เบียดเบียน ฯลฯ

ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนทิฏฐิได้โดยง่าย ย่อมเป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก

ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาทเราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดูอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

 

 

พระสูตร
สัลเลขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๑๐๐-๑๐๙