พุทธวิธีวิปัสสนาขันธ์ ๕ โดยฐานะ ๗ วิธี ๓ | สัตตัฏฐานสูตร
พุทธวิธีวิปัสสนาขันธ์ ๕
โดยฐานะ ๗ วิธี ๓
สัตตัฏฐานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๑๘-๑๒๔
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ 20:09 นาที
เวลาปฏิบัติ 30 นาที
-----
00:00 Intro
03:08 รูป
05:56 เวทนา
09:11 สัญญา
12:16 สังขาร
15:27 วิญญาณ
18:31 เพ่งพินิจโดยวิธี ๓
ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้
ก็ภิกษุผู้ฉลาดในในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เหตุเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
คุณแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
โทษแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็รูปเป็นไฉน คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป
ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร
ความดับแห่งรูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป
ก็เวทนาเป็นไฉน
เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส เวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เวทนาเกิดแต่กายสัมผัส เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่าเวทนา
ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา
ก็สัญญาเป็นไฉน
สัญญา ๖ หมวดนี้คือ ความสำคัญในรูป ความสำคัญในเสียง ความสำคัญในกลิ่น ความสำคัญในรส ความสำคัญในโผฏฐัพพะ ความสำคัญในธรรมารมณ์ นี้เรียกว่าสัญญา
ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา
ก็สังขารเป็นไฉน
เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา นี้เรียกว่าสังขาร
ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร
วิญญาณเป็นไฉน
วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป
ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ยิ่งซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้
รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้
รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้
รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้
ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า หลุดพ้นแล้วดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก
ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ อย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุ
โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง
โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง
อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ
ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้