Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีวางจิตต่อผู้มาเบียดเบียน | ปุณโณวาทสูตร

พุทธวิธีวางจิตต่อผู้มาเบียดเบียน
ปุณโณวาทสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๗๕๔-๗๖๕

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 16:08 นาที
เวลาปฏิบัติ 20 นาที

-----

มัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขพระนครสาวัตถี

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่

ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิด

มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต...
มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ...
มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา...
มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ...

มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่

ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิย่อมเกิดแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุคือนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิด

ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล

ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับ

มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต...
มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ...
มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา...
มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย...

มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่

ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอ
ผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับ

ดูกรปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไปอยู่ชนบทที่ชื่อสุนาปรันตะ

ดูกรปุณณะ พวกชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ประหารเราด้วยฝ่ามือ

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกชาวสุนาปรันตชนบทจักประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนา ที่ไม่ประหารเราด้วยก้อนดิน

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ประหารเราด้วยท่อนไม้

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ประหารเราด้วยศาตรา

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท จักประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม

ดูกรปุณณะ ก็ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในชนพวกนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาตราสังหารชีพอยู่ เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว

ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้

ปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด

ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท

ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน แสดงตนเป็นอุบาสิกา ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน สมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว

ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติเป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว

 

พระสูตร
ปุณโณวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๗๕๔-๗๖๕