พุทธวิธีวางจิตในผัสสายตนะ ๖ | สังคัยหสูตรที่ ๑
พุทธวิธีวางจิตในผัสสายตนะ ๖
สังคัยหสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๒๘-๑๓๐
ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง
ความยาววีดิทัศน์ 6:40 นาที
เวลาปฏิบัติ 15 นาที
-------
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้
ผัสสายตนะ ๖ ประการ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้
ผัสสายตนะ ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖ เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์
บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น บุคคลเหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่
บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว พึงบรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารักของเรา (เราเห็นรูปไม่น่ารักเข้าแล้ว)
ได้ยินเสียงที่น่ารักและเสียงที่ไม่น่ารัก พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก และพึงบรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่น่ารักของเรา (เราได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารักเข้าแล้ว)
ได้ดมกลิ่นที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารักใคร่ พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่
ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย
ถูกสัมผัสที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้าแล้ว ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้ายเพราะผัสสะอะไรๆ
นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา มีความสำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่
ก็บุคคลบรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว ย่อมรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ
ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วในอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ในกาลใด ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้นอันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายปราบราคะและโทสะเสียแล้ว ย่อมเป็นผู้ถึงนิพพานซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้นแห่งชาติและมรณะ