Main navigation

อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงให้กุลบุตรบรรพชาอย่างนี้

ชั้นแรก พวกเธอพึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและผู้มุ่งอุปสมบท ปลงผมและหนวด แล้วให้ครองผ้ากาสายะ ให้ทำห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลายแล้ว ให้นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี สั่งว่า

เธอจงว่าอย่างนี้ แล้วให้ว่าสรณคมน์ ดังนี้

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๒

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์นี้

คราวนั้น ท่านพระสารีบุตร ให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว

 

อ้างอิง : ราหุลกุมารบรรพชา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๑๘ หน้า ๑๓๖-๑๓๗

อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม

กรรมวาจาขออุปสมบท

อุปสัมปทาเปกขะนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขออุปสมบทอย่างนี้ว่า

ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ เจ้าข้า ขอสงฆ์โปรดเอ็นดูยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด เจ้าข้า
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...


กรรมวาจาให้อุปสมบท

ก็แล พวกเธอพึงให้อุปสมบทอย่างนี้

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อผู้นี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ ผู้นี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ การอุปสมบทผู้มีชื่อนี้ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ผู้มีชื่อนี้ สงฆ์อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌายะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ (๔/๘๕-๘๖/๗๗-๗๙)


จำนวนสงฆ์เพื่อการอุปสมบท

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะซึ่งมีพวกหย่อน ๑๐ รูปใดให้อุปสมบทต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวกเกิน ๑๐ (๔/๘๙/๘๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์มีวินัยธรเป็นที่ ๕ ได้ ทั่วปัจจันตชนบท (๕/๒๓/๒๗)


องค์แห่งภิกษุผู้ให้อุปสมบท

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณเหล่านี้ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก คือ

๑. ตนเองประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองศีลอันเป็นของพระอเสขะ

๒. ตนเองประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ตนเองประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ (๔/๙๘/๑๐๐)

๖. เป็นผู้มีศรัทธา

๗. เป็นผู้มีหิริ

๘. เป็นผู้มีโอตตัปปะ

๙. เป็นผู้ปรารภความเพียร

๑๐. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น (๔/๙๘/๑๐๑)

๑๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๑๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร

๑๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๑๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก

๑๕. เป็นผู้มีปัญญา (๔/๙๘/๑๐๒)

๑๖. อาจจะพยาบาลเอง หรือให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกผู้อาพาธ

๑๗. อาจจะระงับเอง หรือหาผู้อื่นให้ช่วยระงับความกระสัน

๑๘. อาจจะบรรเทาเอง หรือหาผู้อื่นให้ช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย อันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม (๔/๙๘/๑๐๓)

๑๙. อาจจะฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริก ในสิกขาอันเป็นอภิสมาจาร

๒๐. อาจจะแนะนำในสิกขา อันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์

๒๑. อาจจะแนะนำในธรรมอันยิ่งขึ้นไป

๒๒. อาจจะแนะนำในวินัยอันยิ่งขึ้นไป

๒๓. อาจจะเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม (๔/๙๘/๑๐๓-๑๐๔)

๒๔. รู้จักอาบัติ

๒๕. รู้จักอนาบัติ

๒๖. รู้จักอาบัติเบา

๒๗. รู้จักอาบัติหนัก (๔/๙๘/๑๐๔)

๒๘. รู้จักวิธีออกจากอาบัติ (๔/๙๘/๑๐๓)

๒๙. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อยโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ (๔/๙๘/๑๐๔)

๓๐. มีพรรษาได้ ๑๐ หรือเกิน ๑๐ (๔/๙๘/๑๐๕)

 

เรียบเรียงจาก :
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ มหาวรรค ข้อที่ ๙๘-๙๙ หน้า ๙๙-๑๑๒

คนหลงผิดขอบวช

การให้ปริวาสสำหรับคนหลงผิดที่ขอบวช (ติตถิยปริวาส)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่เธอ

ก็แลสงฆ์พึงให้ติตถิยปริวาสอย่างนี้


วิธีให้ติตถิยปริวาส

ชั้นต้นพึงให้กุลบุตรที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ให้ประคองอัญชลี สั่งว่า

จงว่าไตรสรณคมน์ สามจบ แล้วกล่าวคำขอติตถิยปริวาสอย่างนี้ ว่าดังนี้


คำขอติตถิยปริวาส

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าผู้มีชื่อนี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้น ขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์

พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้


กรรมวาจาให้ติตถิยปริวาส

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ปริวาส ๔ เดือน สงฆ์ให้แล้วแก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ (๔/๑๐๐/๑๑๓-๑๑๔)


ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี สมควรบวชได้

๑. กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านไม่เช้าเกินไป กลับไม่สายเกินไป แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

๒. อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

๓. อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาสอดส่องในการนั้น อาจทำได้ อาจจัดการได้ แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

๔. อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เป็นผู้สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี

๕. อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือ ของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อเขากล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรมหรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือของครูคนนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรมหรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่งกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ (๔/๑๐๐/๑๑๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของอุปัชฌายะเสีย แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม กลับมาแล้ว ไม่พึงอุปสมบทให้ (๔/๑๐๐/๑๑๓)

 

อ้างอิง: พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๐๐ หน้า ๑๑๓-๑๑๖

 

คนที่ห้ามบวช

คนที่ห้ามบวช
(อันตรายิกธรรม)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรเหล่านี้ ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ

๑. ห้ามผู้ถูกโรค ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑ โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑ โรคลมบ้าหมู ๑ (๔/๑๐๑/๑๑๙)

๒. ห้ามข้าราชการ ที่ไม่ได้ลา (๔/๑๐๒/๑๒๑)

๓. ห้ามโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง (๔/๑๐๓/๑๒๑)

๔. ห้ามโจรผู้หนีเรือนจำ (๔/๑๐๔/๑๒๒)

๕. ห้ามโจรผู้ถูกออกหมายสั่งจับ (๔/๑๐๕/๑๒๒)

๖. ห้ามบุรุษผู้ถูกลงอาญา (๔/๑๐๖-๑๐๗/๑๒๓)

๗. ห้ามคนมีหนี้ (๔/๑๐๘/๑๒๓)

๘. ห้ามคนเป็นทาส (๔/๑๐๙/๑๒๔)

๙. ห้ามบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี (๔/๑๑๑/๑๒๖)

๑๐. ห้ามคนไม่มีบาตร ไม่มีจีวร (๔/๑๓๔/๑๔๘)

๑๑. ห้ามบัณเฑาะก์(กระเทย) ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๒๕/๑๔๒)

๑๒. ห้ามดิรัจฉาน (เช่นนาคแปลงเป็นคน) ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๒๗/๑๔๔)

๑๓. ห้ามคนฆ่ามารดา ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๒๘/๑๔๕)

๑๔. ห้ามคนฆ่าบิดา ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๒๙/๑๔๕)

๑๕. ห้ามคนฆ่าพระอรหันต์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๓๐/๑๔๖)

๑๖. ห้ามคนยุแหย่หมู่คณะให้แตกแยก ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๓๑/๑๔๖)

๑๗. ห้ามคนทำร้ายภิกษุณี ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๓๑/๑๔๖)

๑๘. ห้ามคนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๓๑/๑๔๖)

๑๙. ห้ามคนสองเพศ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๓๒/๑๔๖)

๒๐. ห้ามคนเข้ารีดเดียรถีย์ ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย (๔/๑๒๖/๑๔๓)

๒๑. ห้ามบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงให้บวชสามเณร (๔/๑๑๘/๑๓๘)

๒๒. ห้ามคนทุพพลภาพ ไม่สมประกอบ ภิกษุไม่พึงบรรพชา(ให้บวชสามเณร) (๔/๑๓๕/๑๕๐)

 

เรียบเรียงจาก: พระไตรปิฎก​ ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๐๑-๑๓๕  หน้า ๑๑๗-๑๕๐

นักบวชนอกศาสนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้นิสสัยแก่ภิกษุพวกอลัชชี รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอยู่อาศัยภิกษุพวกอลัชชี รูปใดอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๑๓๖/๑๕๑)

 

อ้างอิง: พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๓๖ หน้า ๑๕๑