Main navigation

อุโบสถกรรม

(อุโบสถขันธกะ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ  ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ ปักษ์ (๑๕ วัน) ละ ๑ ครั้ง

ก็แล ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้


ญัตติกรรมวาจา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำอุโบสถ พึงสวดปาติโมกข์

อะไรเป็นบุพพกิจของสงฆ์

ท่านทั้งหลายพึงบอกความบริสุทธิ์ ข้าพเจ้าจักสวดปาติโมกข์ พวกเราบรรดาที่มีอยู่ทั้งหมดจงฟัง จงใส่ใจซึ่งปาติโมกข์นั้นให้สำเร็จประโยชน์

ท่านผู้ใดมีอาบัติ ท่านผู้นั้นพึงเปิดเผย เมื่ออาบัติไม่มี พึงนิ่งอยู่

ก็ด้วยความเป็นผู้นิ่งแล ข้าพเจ้าจักทราบท่านทั้งหลายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ก็ภิกษุรูปใด เมื่อสวดประกาศกว่าจะครบ ๓ จบ ระลึกได้ ไม่ยอมเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ สัมปชานมุสาวาทย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้น

ท่านทั้งหลาย ก็สัมปชานมุสาวาท พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตราย เพราะฉะนั้น ภิกษุต้องอาบัติแล้วระลึกได้ หวังความบริสุทธิ์ พึงเปิดเผยอาบัติที่มีอยู่ เพราะเปิดเผยอาบัติแล้ว ความผาสุกย่อมมีแก่เธอ

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๔๘-๑๔๙ หน้า ๑๖๖-๑๖๘

โรงอุโบสถ

กำเนิดโบสถ์ทำอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น หรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนง ให้เป็นโรงอุโบสถ แล้วทำอุโบสถ

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๕๗ หน้า ๑๗๔

ปาติโมกขุเทศ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุเทศนี้ คือ ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท (ย่อ) นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๑

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๒

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๓

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๔

สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๕

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๖๗ หน้า ๑๘๒

 

การแสดงธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระแสดงธรรมเอง หรือให้อาราธนาผู้อื่นแสดง

ภิกษุไม่ได้รับอารธนา ไม่พึงแสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๖๘ หน้า ๑๘๓

เมื่อมาอุโบสถไม่ได้

การมอบปาริสุทธิเมื่อมาอุโบสถไม่ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิ

ก็แล ภิกษุอาพาธนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำมอบปาริสุทธิอย่างนี้ว่า

ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ขอท่านจงนำปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า

ภิกษุรับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกายและวาจาก็ได้ เป็นอันภิกษุอาพาธมอบปาริสุทธิแล้ว

ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือตั่ง หามภิกษุอาพาธนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์ แล้วทำอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์เป็นวรรค (ไม่ครบทั้งหมด) ไม่พึงทำอุโบสถเลย ถ้าขืนทำ ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๑๘๑/๑๙๔) เว้นไว้แต่ภิกษุวิกลจริต (๔/๑๘๔/๑๙๘)

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๘๑ และ ๑๘๔ หน้า ๑๙๔ และ ๑๙๘

วิธีทำอุโบสถ

วิธีทำอุโบสถ ๓ อย่าง

๑. สวดปาติโมกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์ (๔/๑๘๕/๑๙๙)


๒. ทำปาริสุทธิอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ๒ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน ก็แล พึงทำปาริสุทธิอุโบสถ อย่างนี้

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านทั้งหลายเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า อุโบสถวันนี้ที่ ๑๕ ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว เราทั้งหลายพึงทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กันเถิด

ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วบอกความบริสุทธิ์ของตน ต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว
ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว
ฉันบริสุทธิ์แล้ว เธอ ขอเธอจำฉันว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว

ภิกษุผู้นวกะพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วบอกความบริสุทธิ์ของตน ต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า

ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว
ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว
ผมบริสุทธิ์แล้ว ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจำผมว่า ผู้บริสุทธิ์แล้ว (๔/๑๘๕/๒๐๐-๒๐๑)


๓. อธิษฐานอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุในศาสนานี้อยู่รูปเดียว ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่เป็นที่ไปมาแห่งภิกษุทั้งหลาย คือ จะเป็นโรงฉัน มณฑป หรือโคนต้นไม้ก็ตาม แล้วนั่งรออยู่ ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงทำอุโบสถร่วมกับพวกเธอ ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๑๘๕/๒๐๑-๒๐๒)

อนึ่ง ไม่พึงทำอุโบสถ ในกาลมิใช่วันอุโบสถ เว้นแต่วันสังฆสามัคคี (๔/๒๐๓/๒๒๑)

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๘๕ และ ๒๐๓ หน้า ๑๙๙-๒๐๑ และ ๒๒๑

การแสดงอาบัติ

การขอโอกาสก่อนชี้อาบัติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์ขอให้จำเลยให้โอกาส ด้วยคำว่า

ขอท่านจงให้โอกาส ผมใคร่จะกล่าวกะท่าน

ดังนี้ แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ

ภิกษุไม่พึงขอให้ภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ให้โอกาสในอธิกรณ์ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุ รูปใดขอให้ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ

ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๑๗๐-๑๗๔/๑๘๖-๑๘๘)


แสดงอาบัติก่อน และระหว่างทำอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนอุโบสถ ก็ภิกษุผู้รู้อาบัติพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

แน่ะเธอ ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ผมแสดงคืนอาบัตินั้น

ภิกษุผู้รับพึงถามว่า ท่านเห็นหรือ

ภิกษุผู้แสดงพึงตอบว่า ครับ ผมเห็น

ภิกษุผู้รับพึงบอกว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป (๔/๑๘๖/๒๐๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุในศาสนานี้ระลึกอาบัติได้  ภิกษุนั้นพึงบอกภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า

อาวุโส ผมต้องอาบัติมีชื่อนี้ ลุกจากที่นี้แล้วจักทำคืนอาบัตินั้น

ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่ระลึกอาบัติได้นั้นเป็นปัจจัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุในศาสนานี้มีความสงสัยในอาบัติ ภิกษุนั้นพึงบอกกะภิกษุใกล้เคียงอย่างนี้ว่า

แน่ะเธอ ผมมีความสงสัยในอาบัติมีชื่อนี้ จักหมดสงสัยเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้น เมื่อนั้น

ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถ ฟังปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่สงสัยนั้นเป็นปัจจัย (๔/๑๘๘/๒๐๓)


แสดงอาบัติทั้งคณะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ สงฆ์ทั้งหมดต้องสภาคาบัติ ภิกษุเหล่านั้นพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่อาวาสใกล้เคียง พอจะกลับมาทันในวันนั้น ด้วยสั่งว่า

อาวุโส เธอจงไปทำคืนอาบัตินั้นแล้วมา พวกเราจักทำคืนอาบัติกับเธอ

ถ้าได้ภิกษุเช่นนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ทั้งหมดนี้ต้องสภาคาบัติ เห็นภิกษุรูปอื่นผู้บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติเมื่อใด จักทำคืนอาบัตินั้นในสำนักเธอเมื่อนั้น

ครั้นแล้วพึงทำอุโบสถ สวดปาติโมกข์ แต่ไม่พึงทำอันตรายแก่อุโบสถ เพราะข้อที่ต้องสภาคาบัตินั้นเป็นปัจจัย (๔/๑๘๙/๒๐๔)

 

เรียบเรียงจาก :
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๗๐-๑๗๔ และ ๒๐๓ หน้า ๑๘๖-๑๘๘ และ ๒๒๑

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๘๖ และ ๑๘๘-๑๘๙ หน้า ๒๐๒ และ ๒๐๓-๒๐๔

การทำอุโบสถร่วมกัน

ภิกษุนานาสังวาสและสมานสังวาส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุเจ้าถิ่น/อาคันตุกะในศาสนานี้ได้เห็นภิกษุอาคันตุกะ/เจ้าถิ่น มีสังวาส (การปฏิบัติธรรมวินัย) ต่างกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสเสมอกัน ครั้นแล้ว ก็ไม่ไต่ถามจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ

พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้ว ไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้ว ไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่น/อาคันตุกะในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุอาคันตุกะ/เจ้าถิ่น มีสังวาสเสมอกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสต่างกัน ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้ว รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ

พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้ว ไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ (๔/๑๙๙/๒๑๘)

อนึ่ง ไม่พึงสวดปาติโมกข์ ในบริษัทที่ภิกษุทุศีล หรือต้องห้ามอุปสมบทนั่งอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๒๐๑/๒๒๑)


ภิกษุณีปาฏิโมกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณี รูปใดแสดงต้องอาบัติทุกกฏ

เราอนุญาตให้ภิกษุณีแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณีด้วยกัน (๗/๕๒๕/๒๑๔)

 

เรียบเรียงจาก :
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๙๙ และ ๒๐๑ หน้า ๒๑๘ และ ๒๒๑

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๕๒๕ หน้า ๒๑๔

วิธีงดปาติโมกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงงดอย่างนี้ เมื่อถึงวันอุโบสถ ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ เมื่อบุคคลนั้นอยู่พร้อมหน้าสงฆ์ พึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บุคคลมีชื่อนี้ มีอาบัติติดตัว ข้าพเจ้างดปาติโมกข์แก่เธอ เมื่อเธออยู่พร้อมหน้าสงฆ์ ไม่พึงสวดปาติโมกข์

ดังนี้ ปาติโมกข์เป็นอันงดแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงงดปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายที่บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติในเพราะเรื่องอันไม่สมควร ในเพราะเหตุอันไม่สมควร รูปใดงด ต้องอาบัติทุกกฏ


การงดปาฏิโมกข์อย่างเป็นธรรม และไม่เป็นธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงดปาติโมกข์ไม่เป็นธรรม มีมูล ๔ เป็นไฉน

ภิกษุงดปาติโมกข์

๑. เพราะศีลวิบัติไม่มีมูล
๒. เพราะอาจารวิบัติไม่มีมูล
๓. เพราะทิฐิวิบัติไม่มีมูล
๔. เพราะอาชีววิบัติไม่มีมูล

นี้การงดปาติโมกข์ไม่เป็นธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงดปาติโมกข์เป็นธรรม มีมูล ๔ เป็นไฉน

ภิกษุงดปาติโมกข์

๑. เพราะศีลวิบัติมีมูล
๒. เพราะอาจารวิบัติมีมูล
๓. เพราะทิฐิวิบัติมีมูล
๔. เพราะอาชีววิบัติมีมูล

นี้การงดปาติโมกข์เป็นธรรม


การงดปาติโมกข์ไม่เป็นธรรม มีมูล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงดปาติโมกข์ไม่เป็นธรรม มีมูล ๑๐ เป็นไฉน

๑. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ไม่ได้นั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๒. กถาปรารภผู้ต้องอาบัติปาราชิกมิได้ค้างอยู่
๓. ภิกษุผู้บอกลาสิกขาไม่ได้นั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๔. กถาปรารภภิกษุผู้บอกลาสิกขามิได้ค้างอยู่
๕. ภิกษุร่วมสามัคคีที่เป็นธรรม
๖. ไม่ค้านสามัคคีที่เป็นธรรม
๗. กถาปรารภการค้านสามัคคีที่เป็นธรรมมิได้ค้างอยู่
๘. ไม่มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยศีลวิบัติ
๙. ไม่มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยอาจารวิบัติ
๑๐. ไม่มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยทิฐิวิบัติ

นี้การงดปาติโมกข์ไม่เป็นธรรม มีมูล ๑๐


การงดปาติโมกข์เป็นธรรม มีมูล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงดปาติโมกข์เป็นธรรม มีมูล ๑๐ เป็นไฉน

๑. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๒. กถาปรารภภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกค้างอยู่
๓. ภิกษุผู้บอกลาสิกขานั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๔. กถาปรารภภิกษุผู้บอกลาสิกขาค้างอยู่
๕. ภิกษุไม่ร่วมสามัคคีที่เป็นธรรม
๖. ค้านสามัคคีที่เป็นธรรม
๗. กถาปรารภการค้านสามัคคีที่เป็นธรรมค้างอยู่
๘. มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยศีลวิบัติ
 ๙. มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยอาจารวิบัติ
๑๐. มีภิกษุที่มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยทิฐิวิบัติ

นี้การงดปาติโมกข์เป็นธรรม มีมูล ๑๐

 

เรียบเรียงจาก :
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๔๖๖-๔๖๗  หน้า ๑๘๖-๑๘๗
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๔๗๕-๔๗๖ หน้า ๑๘๘
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๔๘๗- ๔๗๘ หน้า ๑๙๒-๑๙๓

การโจทก์

ผู้ควรโจทก์ผู้อื่น

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ปรารถนาจะโจทก์ผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน แล้วโจทก์ผู้อื่น คือ

๑. เรามีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่

๒. เรามีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่    

๓. จิตของเรามีเมตตาปรากฏ ไม่อาฆาตในสพรหมจารีทั้งหลายหรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่

๔. เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรมเหล่านั้นใด ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้นเป็นธรรมอันเราสดับมาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่

๕. เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร สวดไพเราะ คล่องแคล่ว วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่  

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการนี้ว่ามีในตน แล้วจึงโจทผู้อื่น (๗/๕๐๐-๕๐๔/๑๙๙-๒๐๐)


ผู้โจทก์ควรทรงธรรม ๕ ประการ

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วโจทก์ผู้อื่น คือ

๑. เราจักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร

๒. จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่เป็นจริง

๓. จักกล่าวด้วยคำสุภาพ จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ

๔. จักกล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำไร้ประโยชน์

๕. จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่มุ่งร้ายกล่าว

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตน ผู้โจทก์โดยเป็นธรรมย่อมไม่เดือดร้อน (๗/๕๐๕,๕๐๘/๒๐๐-๒๐๑)


ธรรมสำหรับผู้โจทก์ ๕ ประการ (ผู้โจทก์ควรตั้งจิต ๕ ประการ)

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทก์ผู้อื่น คือ

๑. ความการุญ
๒. ความหวังประโยชน์
๓. ความเอ็นดู
๔. ความออกจากอาบัติ
๕. ความทำวินัยเป็นเบื้องหน้า (๗/๕๑๐/๒๐๒)


ผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรมย่อมเดือดร้อน

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ คือ

๑. ท่านโจทก์โดยกาลไม่ควร ไม่โจทก์โดยกาลอันควร ท่านต้องเดือดร้อน

๒. ท่านโจทก์ด้วยเรื่องไม่จริง ไม่โจทก์ด้วยเรื่องจริง ท่านต้องเดือดร้อน

๓. ท่านโจทก์ด้วยคำหยาบ ไม่โจทก์ด้วยคำสุภาพ ท่านต้องเดือดร้อน

๔. ท่านโจทก์ด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทก์ด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ท่านต้องเดือดร้อน

๕. ท่านมุ่งร้ายโจทก์ มิใช่มีเมตตาจิตโจทก์ ท่านต้องเดือดร้อน

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้ (๗/๕๐๖/๒๐๐-๒๐๑)


ผู้ถูกโจทก์โดยไม่เป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ

๑. ท่านถูกโจทก์โดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทก์โดยกาลอันควร ท่านไม่ต้องเดือดร้อน

๒. ท่านถูกโจทก์ด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ได้ถูกโจทก์ด้วยเรื่องจริง ท่านไม่ต้องเดือดร้อน

๓. ท่านถูกโจทก์ด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทก์ด้วยคำสุภาพ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน

๔. ท่านถูกโจทก์ด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ได้ถูกโจทก์ด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน

๕. ท่านถูกโจทก์ด้วยมุ่งร้าย ไม่ถูกโจทก์ด้วยเมตตาจิต ท่านไม่ต้องเดือดร้อน

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยอาการทั้ง ๕ นี้  (๗/๕๐๗/๒๐๑)

 

การรับอธิกรณ์

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ปรารถนาจะรับอธิกรณ์ พึงรับอธิกรณ์ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ    

๑. ภิกษุผู้ปรารถนาจะรับอธิกรณ์ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะรับอธิกรณ์นี้ เป็นกาลสมควรหรือไม่ที่จะรับ

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เป็นกาลไม่ควรที่จะรับอธิกรณ์ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ

๒. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า นี้เป็นกาลควรที่จะรับอธิกรณ์ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า ที่เราปรารถนาจะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องไม่จริง หาใช่เป็นเรื่องจริงไม่ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ

๓. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เราปรารถนาจะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หาใช่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่ ภิกษุไม่พึงรับ

๔. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักได้ภิกษุผู้เคยเห็นกัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัยหรือไม่

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักไม่ได้ภิกษุผู้เคยเห็นกัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ

๕. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักได้ภิกษุผู้เคยเห็นกัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์หรือไม่

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ

ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักไม่มีแก่สงฆ์ อธิกรณ์นั้น ภิกษุพึงรับ

อุบาลี อธิกรณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ภิกษุรับไว้จักไม่ทำความเดือดร้อนแม้ในภายหลังแล


การยกเลิกประชุม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทเลิกประชุมเพราะอันตราย ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. อันตรายแต่พระราชา
๒. อันตรายแต่โจร
๓. อันตรายแต่ไฟ
๔. อันตรายแต่น้ำ
๕. อันตรายแต่มนุษย์
๖. อันตรายแต่อมนุษย์
๗. อันตรายแต่สัตว์ร้าย
๘. อันตรายแต่สัตว์เลื้อยคลาน
๙. อันตรายต่อชีวิต
๑๐. อันตรายต่อพรหมจรรย์

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๔๙๙ และ ๔๙๐  หน้า ๑๙๗-๑๙๘ และ ๑๙๓

วิธีสมมติสีมา

ชั้นต้นพึงทักนิมิต คือ ปัพพตนิมิต ปาสาณนิมิต วนนิมิต รุกขนิมิต มัคคนิมิต วัมมิกนิมิต นทีนิมิต อุทกนิมิต

ครั้นทักนิมิตแล้ว ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้


กรรมวาจาสมมติสีมา

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น นี้เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า การสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

สีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั้นชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๕๔  หน้า ๑๗๒-๑๗๓

วิธีถอนโรงอุโบสถ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนโรงอุโบสถอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า การถอนโรงอุโบสถมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

โรงอุโบสถมีชื่อนี้อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๕๘  หน้า ๑๗๕