Main navigation

สร้างวิหาร

(เตรสกัณฑ์)

อนุญาตสร้างวิหาร

ภิกษุผู้จะสร้างวิหารนั้น พึงให้แผ้วถางสถานที่จะสร้างวิหารเสียก่อน แล้วเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษา แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสงฆ์ให้ตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหาร
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...

ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้เป็นผู้ใคร่จะสร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง เธอขอสงฆ์ให้ตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหาร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหารของภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหารของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหารของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลายผู้อันสงฆ์สมมติแล้วเหล่านั้น พึงไป ณ ที่นั้น ตรวจดูสถานที่จะสร้างวิหาร พึงทราบว่าเป็นสถานมีผู้จองไว้ หรือเป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ เป็นสถานมีชานรอบหรือเป็นสถานไม่มีชานรอบ

ถ้าเป็นสถานมีผู้จองไว้ ทั้งเป็นสถานไม่มีชานรอบ พึงบอกว่าอย่าสร้างลงในที่นี้ ถ้าเป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานรอบ พึงแจ้งแก่สงฆ์ว่า เป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานรอบ

ภิกษุผู้จะสร้างวิหารนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษา แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสงฆ์ให้แสดงสถานที่จะสร้างวิหาร
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...

ภิกษุรูปหนึ่งผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นผู้ใคร่จะสร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง เธอขอสงฆ์ให้แสดงสถานที่จะสร้างวิหาร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงแสดงสถานที่จะสร้างวิหารแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การแสดงสถานที่จะสร้างวิหารของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูด

สถานที่จะสร้างวิหารของภิกษุมีชื่อนี้ อันสงฆ์แสดงแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ 

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๕๒๓-๕๒๔ หน้า ๖๕๖-๖๕๗

สร้างกุฏี

อนุญาตสร้างกุฏี

ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีนั้น พึงให้แผ้วถางพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีนั้นเสียก่อน แล้วเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ผู้แก่พรรษากว่า แล้วนั่นกระโหย่ง ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...

ถ้าสงฆ์ทั้งหมดจะอุตสาหะไปตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีได้ ก็พึงไปตรวจดูด้วยกันทั้งหมด ถ้าไม่อุตสาหะ ในหมู่สงฆ์นั้น ภิกษุเหล่าใดฉลาด สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นสถานมีผู้จองไว้หรือไม่ เป็นสถานมีชานเดินได้รอบหรือไม่ สงฆ์พึงขอสมมติภิกษุเหล่านั้นไปแทนสงฆ์

ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เป็นผู้ใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง เธอขอสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การสมมติภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ภิกษุทั้งหลายมีชื่อนี้ และมีชื่อนี้ อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลายผู้อันสงฆ์สมมติแล้วเหล่านั้น พึงไป ณ ที่นั้น ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี พึงทราบว่าเป็นสถานมีผู้จองไว้ หรือเป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ เป็นสถานมีชานเดินได้รอบหรือเป็นสถานไม่มีชานเดินได้รอบ ถ้าเป็นสถานมีผู้จองไว้ ทั้งไม่มีชานเดินได้รอบ พึงบอกว่า อย่าสร้างลงในที่นี้

ถ้าเป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานเดินได้รอบ พึงแจ้งแก่สงฆ์ว่า เป็นสถานไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานเดินได้รอบ

ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเองด้วยอาการขอเอาเอง

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสงฆ์ให้แสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง เธอขอสงฆ์ให้แสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงแสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การแสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

พื้นที่ที่จะสร้างกุฎีของภิกษุมีชื่อนี้ อันสงฆ์แสดงแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ (๑/๕๐๒-๕๐๓/๖๓๑-๖๓๒)

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๕๐๑-๕๐๓ หน้า ๖๓๑-๖๓๒

อนุมัติผู้ถือเสนาสนะ

อนุมัติผู้ถือ (ดูแล) เสนาสนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ เป็นผู้ให้ถือเสนาสนะ นี้เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การสมมติภิกษุมีชื่อนี้เป็นผู้ให้ถือเสนาสนะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ถือเสนาสนะแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้  (๗/๒๗๘/๘๑)

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๒๗๘ หน้า ๘๑

แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร

อนุมัติผู้แต่งตั้ง (จัดสรร) เสนาสนะและแจกอาหาร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงสมมติภิกษุให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ เบื้องต้นพึงขอให้ภิกษุนั้นรับ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติท่าน.... ให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การสมมติท่าน.... ให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ท่าน.... อันสงฆ์สมมติให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหารแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้

 

เรียบเรียงจาก : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๕๔๐ หน้า ๖๖๗