Main navigation

วัสสูปนายิกขันธกะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษา ในฤดูฝน รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๒๐๖-๒๐๘/๒๒๔-๒๒๕) เมื่อมีกิจ พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ และพึงกลับใน ๗ วัน (๔/๒๑๐/๒๒๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้จำพรรษาในหมู่พวกเกวียน ในเรือ (๔/๒๑๗/๒๔๙) แต่ไม่อนุญาตให้จำพรรษาในโพรงไม้ บนต้นไม้ ในที่แจ้ง ในร่ม ในกระท่อมผี ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงจำพรรษา รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฏ (๔/๒๑๘-๒๑๙/๒๔๙-๒๕๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้วถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน โจรเบียดเบียน ปีศาจรบกวน หญิงแพศยารบกวน ทางการรบกวน มีภัยธรรมชาติ ขาดปัจจัยสี่ ขาดการอุปัฏฐาก หรือภิกษุอื่นขวนขวายทำลายสงฆ์ให้แตกกัน พวกเธอพึงหลีกไปด้วยความสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ให้ไปตามชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด (๔/๒๑๔-๒๑๖/๒๔๔-๒๔๘)

พระพุทธานุญาตปวารณา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมาทานมูควัตร (การกำหนดว่าจะไม่พูดกัน) รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา แล้วปวารณา การปวารณานั้นจักเป็นวิธีเหมาะสมเพื่อว่ากล่าวกันและกัน เป็นวิธีออกจากอาบัติ เป็นวิธีเคารพพระวินัยของพวกเธอ


วิธีปวารณา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงปวารณา อย่างนี้

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณา ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา

ภิกษุผู้เถระ (ภิกษุนวกะ) พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณาอย่างนี้ ว่าดังนี้

เธอทั้งหลาย (ท่านเจ้าข้า) ฉัน (ข้าพเจ้า) ปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอ (ท่าน) ทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน (ข้าพเจ้า) ฉัน (ข้าพเจ้า) เห็นอยู่จักทำคืนเสีย

เธอทั้งหลาย (ท่านเจ้าข้า) แม้ครั้งที่สอง ฉัน (ข้าพเจ้า) ปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอ (ท่าน)ทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน (ข้าพเจ้า) ฉัน (ข้าพเจ้า) เห็นอยู่จักทำคืนเสีย

เธอทั้งหลาย (ท่านเจ้าข้า) แม้ครั้งที่สาม ฉัน (ข้าพเจ้า) ปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอ (ท่าน)ทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน (ข้าพเจ้า) ฉัน (ข้าพเจ้า) เห็นอยู่จักทำคืนเสีย (๔/๒๒๖/๒๖๐-๒๖๑)

 

เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๒๒๖ หน้า ๒๖๐-๒๖๑