Main navigation

ปาจิตติยกัณฑ์

วิธีสมมติภิกษุผู้สั่งสอนภิกษุณี/อุบาสิกา

พึงขอร้องภิกษุผู้นั้นก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี นี่เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ฯ

ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้่า ฯ

ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้


องค์คุณ ๘ ของภิกษุผู้ควรกล่าวสอนภิกษุณี

๑. เป็นผู้มีศีล คือสำรวมด้วยปาติโมกขสังวรศีล สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย     
 ๒. เป็นพหูสูต คือทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นได้สดับมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยปัญญา

๓. พระปาติโมกข์ทั้งสองมาแล้วด้วยดีโดยพิสดารแก่ภิกษุนั้น คือ ภิกษุนั้นจำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยได้เรียบร้อยโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ

๔. เป็นผู้มีวาจาสละสลวย ชัดเจน

๕. เป็นที่นิยมชมชอบของภิกษุณีโดยมาก

๖. เป็นผู้สามารถกล่าวสอนภิกษุณีได้

๗. เป็นผู้ไม่เคยล่วงครุธรรมกับสตรีผู้ครองผ้ากาสายะ และ

๘. มีพรรษาได้ ๒๐ หรือเกิน ๒๐

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๘ ประการนี้ ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี (และอุบาสิกา) ได้ 

 

เรียงเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อที่ ๔๐๖-๔๐๗ หน้า ๓๖๓ และ ๓๖๖