สังฆกรรม
การอยู่ปริวาส
การทำคืนอาบัติสังฆาทิเสส
ปาริวาสิกวัตร (ปาริวาสิกขันธกะ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล เราจักบัญญัติวัตรแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ปริวาส โดยประการที่ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ต้องประพฤติทุกรูป คือ
หมวดที่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาสพึงประพฤติชอบ วิธีประพฤติชอบในวัตรนั้น ดังต่อไปนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสัย
ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก
ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี
แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี
สงฆ์ให้ปริวาสเพื่ออาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้น
ไม่พึงต้องอาบัติอื่นอันเช่นกัน
ไม่พึงต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น
ไม่พึงติกรรม
ไม่พึงติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม
ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงทำการไต่สวน
ไม่พึงเริ่มอนุวาทาธิกรณ์
ไม่พึงยังภิกษุอื่นให้ทำโอกาส
ไม่พึงโจทภิกษุอื่น
ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การ
ไม่พึงช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้อธิกรณ์กัน
หมวดที่ ๒
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงไปข้างหน้าแห่งปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงนั่งข้างหน้าแห่งปกตัตตะภิกษุ
พึงพอใจด้วยอาสนะสุดท้าย ที่นอนสุดท้าย วิหารสุดท้ายของสงฆ์ ที่สงฆ์จะพึงให้แก่เธอ
ไม่พึงมีปกตัตตะภิกษุ เป็นสมณะนำหน้า หรือตามหลังเข้าไปสู่สกุล
ไม่พึงสมาทานอารัญญิกธุดงค์
ไม่พึงสมาทานปิณฑปาติกธุดงค์ และ
ไม่พึงให้เขานำบิณฑบาตมาส่ง เพราะปัจจัยนั้น ด้วยคิดว่าคนทั้งหลายอย่ารู้เรา
หมวดที่ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส เป็นอาคันตุกะไป พึงบอก มีอาคันตุกะมา ก็พึงบอก พึงบอกในอุโบสถ พึงบอกในปวารณา ถ้าอาพาธ พึงสั่งทูตให้บอก
หมวดที่ ๔
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่หาภิกษุมิได้
ทั้งนี้ เว้นแต่ไปกับปกตัตตะภิกษุ เว้นแต่มีอันตราย
หมวดที่ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ไม่พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ แต่เป็นนานาสังวาส
ทั้งนี้ เว้นแต่ไปกับปกตัตตะภิกษุ เว้นแต่มีอันตราย
หมวดที่ ๖
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่ถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
พึงออกจากอาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ ไปสู่อาวาสหรือถิ่นมิใช่อาวาสที่มีภิกษุ เป็นสมานสังวาส
ทั้งนี้ ที่รู้ว่าอาจจะไปถึงในวันนี้เทียว
หมวดที่ ๗
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในอาวาสกับปกตัตตะภิกษุ
ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในถิ่นมิใช่อาวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงอันเดียวกันในอาวาสก็ดี ในถิ่นมิใช่อาวาสก็ดี
เห็นปกตัตตะภิกษุแล้ว พึงลุกออกจากอาสนะ
พึงนิมนต์ปกตัตตะภิกษุให้นั่ง
ไม่พึงนั่งในอาสนะเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ
เมื่อปกตัตตะภิกษุนั่ง ณ อาสนะต่ำ ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะสูง
เมื่อปกตัตตะภิกษุนั่ง ณ พื้นดิน ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะ
ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมอันเดียวกันกับปกตัตตะภิกษุ
เมื่อปกตัตตะภิกษุจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมสูง
เมื่อปกตัตตะภิกษุจงกรม ณ พื้นดิน ไม่พึงจงกรมในที่จงกรม
หมวดที่ ๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในอาวาส กับภิกษุอยู่ปริวาสผู้แก่พรรษากว่า
ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในถิ่นมิใช่อาวาส
ไม่พึงอยู่ในที่มุงเดียวกันในอาวาสก็ดี ในถิ่นมิใช่อาวาสก็ดี
ไม่พึงนั่งในอาสนะเดียวกันกับภิกษุอยู่ปริวาสผู้แก่พรรษากว่า หรือกับภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม หรือกับภิกษุผู้ควรมานัต หรือกับภิกษุผู้ประพฤติมานัต หรือกับภิกษุผู้ควรอัพภาน
เมื่อเธอเหล่านั้นนั่ง ณ อาสนะต่ำ ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะสูง
เมื่อเธอเหล่านั้นนั่ง ณ พื้นดิน ไม่พึงนั่ง ณ อาสนะ
ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมเดียวกัน
เมื่อเธอเหล่านั้นจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ไม่พึงจงกรมในที่จงกรมสูง
เมื่อเธอเหล่านั้นจงกรมอยู่ ณ พื้นดิน ไม่พึงจงกรมในที่จงกรม
หมวดพิเศษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้อยู่ปริวาสไม่พึงยินดีการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตร จีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำ ของปกตัตตะภิกษุทั้งหลาย รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม การนำอาสนะมาให้ การนำที่นอนมาให้ การล้างเท้า การตั้งตั่งรองเท้า การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า การรับบาตร จีวร การถูหลังให้เมื่ออาบน้ำของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ปริวาสด้วยกัน ตามลำดับผู้แก่พรรษา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกิจ ๕ อย่าง คือ อุโบสถ ปวารณา ผ้าอาบน้ำฝน การสละภัตร และการรับภัตร แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ปริวาสด้วยกัน ตามลำดับผู้แก่พรรษา
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๓๒๑-๓๒๙ หน้า ๑๓๐-๑๓๔
สุทธันตปริวาส
ว่าด้วยการทำคืนอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว หลายเวลา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์จงให้สุทธันตปริวาส เพื่ออาบัติเหล่านั้นแก่ภิกษุนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้สุทธันตปริวาสอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว ข้าพเจ้าไม่รู้ที่สุดอาบัติ ไม่รู้ที่สุดราตรี ระลึกที่สุดอาบัติไม่ได้ ระลึกที่สุดราตรีไม่ได้ สงสัยในที่สุดอาบัติ สงสัยในที่สุดราตรี ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสุทธันตปริวาส เพื่ออาบัติเหล่านั้นกะสงฆ์
พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
พึงขอแม้ครั้งที่สาม...
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัวเธอไม่รู้ที่สุดอาบัติ ไม่รู้ที่สุดราตรี ระลึกที่สุดอาบัติไม่ได้ ระลึกที่สุดราตรีไม่ได้ สงสัยในที่สุดอาบัติ สงสัยในที่สุดราตรี เธอขอสุทธันตปริวาส เพื่ออาบัติเหล่านั้นกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สุทธันตปริวาส เพื่ออาบัติเหล่านั้น แก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า การให้สุทธันตปริวาสเพื่ออาบัติเหล่านั้นแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ฯ
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ฯ
สุทธันตปริวาส เพื่ออาบัติเหล่านั้น อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๔๖๖-๔๖๘ หน้า ๒๑๔-๒๑๕