สังฆกรรม
มานัตและอัพภาน
การขอและการให้มานัต
การปฏิบัติเพื่อสละกรรม
(สมุจจยขันธกะ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงให้มานัตอย่างนี้
ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอมานัต ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอมานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้กะสงฆ์ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติตัวหนึ่งชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้
ท่านเจ้าข้า แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้านั้นขอมานัต ๖ ราตรี ฯ
ท่านเจ้าข้า แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้านั้นขอมานัต ๖ ราตรี ฯ
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุนี้ต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้ เธอขอมานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้กะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้มานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้แก่ภิกษุผู้นี้ นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า การให้มานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้แก่ภิกษุนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้า ฯ
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้า ฯ
มานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๓๗๘-๓๗๙ ข้อ ๑๕๙-๑๖๐
การเก็บมานัต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บมานัต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีเก็บมานัตพึงเก็บอย่างนี้
ภิกษุผู้ประพฤติมานัตนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำเก็บมานัต ว่าดังนี้
ข้าพเจ้าเก็บมานัต มานัตเป็นอันเก็บมาแล้ว
หรือกล่าวว่า
ข้าพเจ้าเก็บวัตร มานัตก็เป็นอันเก็บแล้ว (๖/๓๖๖/๑๕๒)
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๓๖๖ ข้อ ๑๕๒
การสมาทานมานัต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมาทานมานัต ดูกรรภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิธีสมาทานมานัต พึงสมาทานอย่างนี้
ภิกษุผู้ประพฤติมานัตนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำสมาทานว่าดังนี้
ข้าพเจ้าสมาทานมานัต มานัตเป็นอันสมาทานแล้ว
หรือกล่าวคำสมาทานว่า
ข้าพเจ้าสมาทานวัตร มานัตก็เป็นอันสมาทานแล้ว
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๓๖๗ ข้อ ๑๕๒
วิธีอัพภาน
ว่าด้วยการพ้นกรรม
(สมุจจยขันธกะ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงอัพภานอย่างนี้ ภิกษุผู้ปฏิบัติมานัตแล้วนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขออัพภาน ว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้ ข้าพเจ้านั้นได้ขอมานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้กะสงฆ์ สงฆ์ได้ให้มานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้แก่ข้าพเจ้านั้น ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติมานัตแล้ว ขออัพภานกะสงฆ์
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติมานัตแล้ว ขออัพภานกะสงฆ์ แม้ครั้งที่สอง
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นประพฤติมานัตแล้ว ขออัพภานกะสงฆ์ แม้ครั้งที่สาม
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่าดังนี้
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุนี้ต้องอาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้ เธอได้ขอมานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ ไม่ได้ปิดบังไว้กะสงฆ์ สงฆ์ได้ให้มานัต ๖ ราตรี เพื่ออาบัติตัวหนึ่ง ชื่อ........ไม่ได้ปิดบังไว้แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นประพฤติมานัตแล้ว ขออัพภานกะสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงอัพภานภิกษุผู้นี้ นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า การอัพภานภิกษุนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง ท่านเจ้าข้่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ฯ
ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม ท่านเจ้าข้่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ฯ
ภิกษุ...... อันสงฆ์อัพภานแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ (๖/๓๘๑-๓๘๒/๑๖๑-๑๖๒)
เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๖ ข้อที่ ๓๘๑-๓๘๒ ข้อ ๑๖๑-๑๖๒