Main navigation

ศีลสำหรับคฤหัสถ์

ศีลสำหรับคฤหัสถ์เพื่ออยู่เป็นสุขในโลกและในสวรรค์  

(กุศลกรรมบถ ๑๐)

 ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี  [เว้นขาดการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป]

 ๒. อทินนาทานา เวรมณี  [เว้นขาดการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้]

 ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี  [เว้นขาดการประพฤติผิดในกาม]

 ๔. มุสาวาทา เวรมณี  [เว้นขาดการพูดเท็จ]

 ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี  [เว้นขาดการพูดส่อเสียดให้คนเกลียดกัน]

 ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี  [เว้นขาดการพูดคำหยาบ]

 ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี  [เว้นขาดการพูดเพ้อเจ้อ]

 ๘. อนภิชฌา  [เว้นขาดความโลภอยากได้ของเขา]

 ๙. อัพยาบาท  [เว้นขาดความปองร้ายเขา]

๑๐. สัมมาทิฏฐิ  [เว้นขาดความเห็นผิด]

 

เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๓๖๐ หน้า ๒๔๖

ศีลสำหรับสิกขมานา

(ปาจิตติยกัณฑ์)

๑. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป มั่น ไม่ละเมิดตลอด ๒ ปี

๒. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการถือเอาพัสดุอันเจ้าของเขามิได้ให้ มั่น ไม่ละเมิด ตลอด ๒ ปี

๓. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการประพฤติผิด มิใช่กิจพรหมจรรย์ มั่น ไม่ละเมิด ตลอด ๒ ปี

๔. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการพูดเท็จ มั่น ไม่ละเมิดตลอด ๒ ปี

๕. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นฐานประมาท มั่น ไม่ละเมิดตลอด ๒ ปี

๖. ข้าพเจ้าสมาทานศีลข้อเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล มั่น ไม่ละเมิดตลอด ๒ ปี

 

เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓ ข้อที่ ๓๗๒ หน้า ๒๒๕

ศีลสำหรับสามเณร

(มหาวรรค)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ

๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป

๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้

๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ

๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก

๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่

๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน

 

เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๒๐ หน้า ๑๓๘-๑๓๙

ครุธรรม ๘

ครุธรรม ๘ ประการสำหรับภิกษุณี (และอุบาสิกาปัจจุบัน)

๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุผู้อุปสมบทแล้วในวันนั้น ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามอุโบสถ ๑ ไปรับโอวาท ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๔. ภิกษุณีผู้จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ ด้วยได้เห็น ๑ ด้วยได้ฟัง ๑ ด้วยรังเกียจ ๑ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๕. ภิกษุณีล่วงละเมิดครุธรรมแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ (ศีลสำหรับสิกขมานา) ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณีได้ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต

 

เรียบเรียงจาก
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อที่ ๔๑๐ หน้า ๓๘๗

จุลศีลสำหรับภิกษุ

(สามัญญผลสูตร)

ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่

๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้นเพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร

๘. เธอเว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม

๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล

๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล

๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก

                                                               

เรียบเรียงจาก
สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที ๑๐๓ หน้า ๕๙-๖๑

มัชฌิมศีลสำหรับภิกษุ

มัชฌิมศีลสำหรับภิกษุ

(สามัญญผลสูตร)

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส

๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง 

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย

๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ

๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ

๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีและกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้

๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง คือ พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ

 

เรียบเรียงจาก
สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที ๑๐๔-๑๑๓ หน้า ๖๑-๖๔

มหาศีลสำหรับภิกษุ

(สามัญญผลสูตร)

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค

๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวลแต่งกาพย์ โลกายศาสตร์

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ

๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล

ดูกรมหาบพิตร ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

 

เรียบเรียงจาก
สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที ๑๑๔-๑๒๑ หน้า ๖๔-๖๗

โทษและอานิงส์ของศีล

โทษแห่งศีลวิบัติ

ดูกรคหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลมี ๕ ประการ เหล่านี้

๑. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท

๒. ชื่อเสียงอันลามกของคนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติย่อมเสียหาย เฟื่องฟุ้งไป

๓. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน

๔. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงทำกาละ

๕. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เบื้องหน้าแต่แตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ

ดูกรคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีลมี ๕ ประการ เหล่านี้

๑. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมได้กองโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาท

๒. ชื่อเสียงอันดีงามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเฟื่องฟุ้งไป

๓. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พรหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ขวยเขิน

๔. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ

๕. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เบื้องหน้าแต่แตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์

 

เรียบเรียงจาก
สีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๑๓ หน้า ๒๒๖-๒๒๗