Main navigation

ปาราชิก

ว่าด้วยการพ้นสภาพภิกษุณี
(ปาราชิกกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีความกำหนัด ยินดีการลูบก็ดี คลำก็ดี จับก็ดี ต้องก็ดี บีบเคล้นก็ดี ของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด ใต้รากขวัญลงไป เหนือเข่าขึ้นมา แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิก ชื่ออุพภชานุมัณฑลิกา หาสังวาสมิได้ (๓/๑/๔)

๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด รู้อยู่ว่าภิกษุณีล่วงอาบัติปาราชิก ไม่โจทด้วยตน ไม่บอกแก่คณะ ในเวลาที่ภิกษุณีนั้นยังดำรงเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปแล้วก็ดี ถูกนาสนะ แล้วก็ดี ไปเข้ารีดเดียรถีย์เสียก็ดี ภายหลังนางจึงบอกอย่างนี้ว่า แม่เจ้า เจ้าข้า เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนั่นได้ดีทีเดียวว่า นางเป็นพี่หญิง น้องหญิง มีความประพฤติเช่นนี้และมีความประพฤติเช่นนี้ แต่ดิฉันไม่โจทด้วยตน ไม่บอกแก่คณะ แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิก ชื่อวัชชปฏิจฉาทิกา หาสังวาสมิได้ (๓/๑๒/๙)

๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด พึงประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียแล้วตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์ ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ทำคืนอาบัติ มิได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า

แม่เจ้า ภิกษุนั่นแล อันสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันยกเสียแล้ว ตามธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์ เป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ทำคืนอาบัติ มิได้ทำภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกันให้เป็นสหาย แม่เจ้าอย่าประพฤติตามภิกษุนั่นเลย ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว

ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ (เตือน)สามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากนางถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย นั่นเป็นการดี หากนางไม่สละเสีย แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิก ชื่ออุกขิตตานุวัตติกา หาสังวาสมิได้ (๓/๑๘/๑๑-๑๒)

๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีความกำหนัด ยินดีการที่บุรุษบุคคลผู้กำหนัดจับมือก็ดี จับชายผ้าสังฆาฏิก็ดี ยืนด้วยก็ดี สนทนาด้วยก็ดี ไปสู่ที่นัดหมายกันก็ดี ยินดีการที่บุรุษมาหาตามนัดก็ดี เข้าไปสู่ที่มุงด้วยกันก็ดี ทอดกายเพื่อประโยชน์แก่บุรุษนั้น เพื่อประสงค์จะเสพอสัทธรรมนั้นก็ดี แม้ภิกษุณีนี้เป็นปาราชิก ชื่ออัฏฐวัตถุกา หาสังวาสมิได้ (๓/๒๖/๑๕-๑๖)

ปาราชิกสิกขาบทสำหรับภิกษุณี ๘ สิกขาบท ประกอบด้วยสิกขาบทเฉพาะภิกษุณี ๔ สิกขาบท รวมกับปาราชิกสิกขาบทสำหรับพระภิกษุอีก ๔ สิกขาบท

สังฆาทิเสส

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องเข้าปริวาสจึงจะพ้นได้
(สัตตรสกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ชอบกล่าวหาเรื่องกับคหบดีก็ดี บุตรคหบดีก็ดี ทาสก็ดี กรรมกรก็ดี โดยที่สุด แม้สมณะปริพาชก ภิกษุณีนี้ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๓๑/๑๙)

๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด รู้อยู่ว่าหญิงเป็นโจร ผู้ปรากฏเป็นนักโทษประหาร ไม่บอกกล่าวพระราชา หมู่ คณะ นายหมวดหรือนายกอง รับให้บวช เว้นแต่บวชมาแล้ว ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๓๕/๒๒)

๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้เดียวไปสู่ละแวกบ้านก็ดี ผู้เดียวไปสู่ฝั่งแม่น้ำก็ดี ผู้เดียวอยู่ปราศจากพวกในราตรีก็ดี ผู้เดียวเดินปลีกไปจากคณะก็ดี ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๔๓/๒๗)

๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่บอกกล่าวการกสงฆ์ ไม่รู้ฉันทะของคณะ เรียกภิกษุณีผู้ซึ่งสงฆ์พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย อันเป็นสัตถุศาสน์แล้วให้เข้าหมู่ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๔๗/๓๐)

๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีความพึงพอใจ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตนเอง จากมือของบุรุษบุคคลผู้มีความพึงพอใจในเธอ แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๕๒/๓๒)

๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า บุรุษบุคคลนั้น มีความพอใจก็ตาม ไม่มีความพอใจก็ตาม จักทำอะไรแก่แม่เจ้าได้ เพราะแม่เจ้าไม่มีความพอใจ นิมนต์เถิด เจ้าค่ะ บุรุษบุคคลนั้นจะถวายของสิ่งใด เป็นของเคี้ยวหรือของฉันก็ตามแก่แม่เจ้า ขอแม่เจ้าจงรับประเคนของสิ่งนั้นด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวหรือฉันเถิด ดังนี้ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติขณะแรกทำ (๓/๕๗/๓๕)

๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด โกรธ ขัดใจ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระพุทธเจ้า ขอบอกคืนพระธรรม ขอบอกคืนพระสงฆ์ ขอบอกคืนสิกขา ภิกษุณีที่ชื่อว่าสมณีจะมีเฉพาะสมณีศากยธิดาเหล่านี้เมื่อไร แม้สมณีเหล่าอื่นที่มีความละอาย มีความรังเกียจผู้ใคร่ต่อสิกขาก็ยังมี ข้าพเจ้าจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณีเหล่านั้น ดังนั้น

ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าอย่าได้โกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระพุทธเจ้า ขอบอกคืนพระธรรม ขอบอกคืนพระสงฆ์ ขอบอกคืนสิกขา ภิกษุณีที่ชื่อว่าสมณี จะมีเฉพาะสมณีศากยธิดาเหล่านี้เมื่อไร แม้สมณีเหล่าอื่นที่มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขาก็ยังมี ข้าพเจ้าจักไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสมณีเหล่านั้น ดังนั้น

ภิกษุณีทั้งหลายพึงกล่าวว่า แม่เจ้าจงยินดียิ่ง พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด และภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ หากยังดื้อดึงอยู่ ภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้น

ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อสวดสมนุภาสน์ครบสามจบ (๓/๖๑/๓๘)

๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้วโกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ดังนี้ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าถูกตัดสินให้แพ้ในอธิกรณ์เรื่องหนึ่งแล้ว อย่าโกรธ ขัดใจ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุณีถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติดังนี้ แม่เจ้าต่างหาก ถึงฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง โมหาคติบ้าง ภยาคติบ้าง

และภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ หากยังดื้อดึงอยู่ ภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้น

หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสียได้ การสละได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อสวดสมนุภาสน์ครบสามจบ (๓/๖๙/๔๒-๔๓)

๙. อนึ่ง ภิกษุณีทั้งหลายอยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีเกียรติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน ภิกษุณีเหล่านั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า พี่น้องหญิงทั้งหลายแลอยู่คลุกคลีกัน มีอาจาระทราม มีเกียรติศัพท์ไม่งาม มีอาชีวะไม่ชอบ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกัน แม่เจ้าทั้งหลายจงแยกกันอยู่เถิด สงฆ์ย่อมสรรเสริญความสงัดอย่างเดียวแก่พี่น้องหญิงทั้งหลาย

แลภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ หากยังดื้อดึงอยู่ ภิกษุณีเหล่านั้น อันภิกษุณีทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบเพื่อให้สละพฤติกรรมนั้น

หากเธอเหล่านั้นถูกสวดสมนุภาสน์ กว่าจะครบสามจบอยู่ สละพฤติกรรมนั้นเสียได้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ภิกษุณีแม้เหล่านี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อสวดสมนุภาสน์ครบสามจบ (๓/๗๗/๔๖-๔๗)

๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอยู่คลุกคลีกันเถิด อย่าต่างคนต่างอยู่เลย ภิกษุณีแม้เหล่าอื่นที่มีอาจาระเช่นนี้ มีเกียรติศัพท์เช่นนี้ มีอาชีวะเช่นนี้ มักเบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์เช่นนี้ ชอบปกปิดโทษของพรรคพวกกันเช่นนี้ก็ยังมีในสงฆ์ สงฆ์ไม่ว่ากล่าวอะไรภิกษุณีพวกนั้น สงฆ์ว่ากล่าวเฉพาะพวกท่าน ด้วยความดูหมิ่น ด้วยความไม่สุภาพ ด้วยความไม่อดกลั้น ด้วยความขู่เข็ญ และเพราะความที่พวกท่านเป็นคนอ่อนแออย่างนี้ ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าว ยังดื้อดึงอยู่อย่างนั้นเทียว

ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละพฤติกรรมนั้น หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละพฤติกรรมนั้นเสีย นั่นเป็นการดี หากไม่สละ ภิกษุณีแม้นี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสส ชื่อนิสสารณียะ มีอันให้ต้องอาบัติในเมื่อสวดสมนุภาสน์ครบสามจบ (๓/๘๕/๕๑)

สังฆาทิเสสสิกขาบทสำหรับภิกษุณี ๑๗ สิกขาบท ประกอบด้วยสิกขาบทเฉพาะภิกษุณี ๑๐ สิกขาบท รวมกับสังฆาทิเสสสิกขาบทสำหรับพระภิกษุ สิขาบทที่ ๕, ๘-๑๓ อีก ๗ สิกขาบท

นิสสัคคิย

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องสละออกจึงพ้นผิด
(นิสสัคคิยกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด พึงทำการสั่งสมบาตร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๙๓/๕๖)

๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด อธิษฐานผ้าอกาลจีวร ว่าเป็นกาลจีวร แล้วแจกกัน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๐๒/๖๑)

๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด เปลี่ยนจีวรกันกับภิกษุณีแล้ว นางพูดขึ้นในภายหลังอย่างนี้ว่า แม่เจ้า เธอจงรับจีวรของเธอไป จงนำจีวรของดิฉันผืนนั้นมา นี่จีวรของเธอก็ต้องเป็นของเธอ นั่นจีวรของดิฉันก็ต้องเป็นของดิฉัน เธอจงนำจีวรผืนนั้นของดิฉันมา จงนำจีวรของเธอกลับไป ดังนี้ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๐๖/๖๓-๖๔)  

๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ออกปากขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว พึงออกปากขอของอื่นอีกอย่าง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๑๐/๖๗)  

๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด สั่งให้จ่ายของอย่างหนึ่งแล้ว สั่งให้จ่ายของอื่นอีกอย่าง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๑๔/๗๐)

๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้เปลี่ยนซึ่งปัจจัยอย่างอื่น ด้วยทรัพย์ที่เขาถวายไว้เพื่อเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง อุทิศไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งใจถวายสงฆ์ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๑๘/๗๓)

๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้เปลี่ยนซึ่งปัจจัยอย่างอื่น ด้วยทรัพย์ที่เขาถวายไว้เพื่อเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง อุทิศไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งใจถวายสงฆ์ แต่ขอมาเป็นส่วนตัว เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๒๒/๗๖)

๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้เปลี่ยนซึ่งปัจจัยอย่างอื่น ด้วยทรัพย์ที่เขาถวายไว้เพื่อเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง อุทิศไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งใจจะถวายแก่ภิกษุณีหมู่มาก เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๒๖/๗๙)

๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้เปลี่ยนซึ่งปัจจัยอย่างอื่น ด้วยทรัพย์ที่เขาถวายไว้เพื่อเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง อุทิศไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งใจถวายภิกษุณีหมู่มาก แต่ขอมาเป็นส่วนตัว เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๓๐/๘๒)

๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้เปลี่ยนซึ่งปัจจัยอย่างอื่น ด้วยทรัพย์ที่เขาถวายไว้เพื่อเป็นมูลค่าปัจจัยอย่างหนึ่ง อุทิศไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งใจถวายบุคคล แต่ขอมาเป็นส่วนตัว เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๓๔/๘๕)

๑๑. อนึ่ง ภิกษุณีผู้จะให้เขาจ่ายผ้าห่มหนัก พึงให้จ่ายได้เพียงราคา ๔ กังสะเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้จ่ายยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๓๘/๘๘)

๑๒. อนึ่ง ภิกษุณีผู้จะให้เขาจ่ายผ้าห่มเบา พึงให้จ่ายได้เพียงราคา ๒ กังสะกึ่งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าให้จ่ายยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๓/๑๔๒/๙๑)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์สำหรับภิกษุณี ๓๐ สิกขาบท ประกอบด้วยสิกขาบทเฉพาะภิกษุณี ๑๒ สิกขาบท รวมกับนิสสัคคิยปาจิตตีย์สำหรับพระภิกษุสิกขาบทที่ ๑-๓, ๖-๑๐, ๑๘-๒๐, ๒๒, ๒๓, ๒๕-๒๘, ๓๐ อีก ๑๘ สิกขาบท

ปาจิตตีย์

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องแสดงความสำนึกจึงพ้นผิด
(ปาจิตติยกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ฉันกระเทียม เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๕๐/๙๔)

๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้ถอนขนในที่แคบ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๕๔/๙๖)

๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมผัสบริเวณองค์รหัส (๓/๑๕๗/๙๘)

๔. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะใช้ท่อนยางเกลี้ยงสัมผัสองค์รหัส (๓/๑๖๐/๑๐๐)

๕. อนึ่ง ภิกษุณีผู้จะใช้น้ำชำระองค์รหัส พึงใช้ชำระลึกเพียงสองข้อองคุลีเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่านั้น เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (๓/๑๖๔/๑๐๓)

๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด เมื่อภิกษุกำลังฉันอยู่ เข้าไปปฏิบัติอยู่ใกล้ๆ ด้วยน้ำฉันหรือด้วยการพัดวี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๖๘/๑๐๔)

๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ขอก็ดี ให้ขอก็ดี คั่วก็ดี ให้คั่วก็ดี ตำก็ดี ให้ตำก็ดี หุงก็ดี ให้หุงก็ดี ซึ่งข้าวเปลือกสด แล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๗๒/๑๐๖)

๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด เทหรือให้เท ซึ่งอุจจาระก็ดี ปัสสาวะก็ดี หยากเยื่อก็ดี ของเป็นเดนก็ดี ณ ภายนอกฝาที่พำนักก็ดี ณ ภายนอกกำแพงก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๗๕/๑๐๙)

๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด เท หรือให้เท ซึ่งอุจจาระก็ดี ปัสสาวะก็ดี หยากเยื่อก็ดี ของเป็นเดนก็ดี ลงในของเขียวสด เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๗๘/๑๑๐)

๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไปดูการฟ้อนรำก็ดี การขับร้องก็ดี การประโคมดนตรีก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๘๒/๑๑๒)

๑๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี ในเวลาค่ำมืด ไม่มีประทีป เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๘๕/๑๑๔)

๑๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี ในสถานที่กำบัง เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๘๘/๑๑๖)

๑๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี ในสถานที่แจ้ง เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๙๑/๑๑๘)

๑๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยืนร่วมก็ดี เจรจาร่วมก็ดี กระซิบใกล้หูก็ดี กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ในถนนก็ดี ในตรอกตันก็ดี ในทางสามแพร่งก็ดี ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๙๔/๑๒๐)

๑๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด เข้าไปสู่สกุลทั้งหลาย ในเวลาก่อนอาหาร นั่งบนอาสนะแล้ว ไม่บอกลาเจ้าของบ้าน หลีกไป เป็นปาจิตตีย์ (๓/๑๙๗/๑๒๓)

๑๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด เข้าไปสู่สกุลในเวลาหลังอาหารไม่บอกกล่าวพวกเจ้าของบ้าน นั่งก็ดี นอนก็ดี บนอาสนะ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๐๑/๑๒๕)

๑๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด เข้าไปสู่สกุลทั้งหลาย ในเวลาวิกาล ไม่บอกพวกเจ้าของบ้าน ลาดก็ดี ให้ลาดก็ดี ซึ่งเครื่องนอน แล้วนั่งก็ดี นอนก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๐๕/๑๒๘)

๑๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้คนอื่นโพนทะนา โดยให้เชื่อผิด เข้าใจผิด เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๐๙/๑๓๐)

๑๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด แช่งตนก็ดี ผู้อื่นก็ดี ด้วยนรก หรือด้วยพรหมจรรย์ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๑๓/๑๓๒)

๒๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด พร่ำตีตนแล้วร้องไห้ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๑๗/๑๓๔)

๒๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด เปลือยกายอาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๒๐/๑๓๖)

๒๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้จะให้ทำผ้าอาบน้ำ พึงให้ทำให้ได้ประมาณนี้ โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้น เป็นปาจิตตีย์ ให้ตัดเสีย (๓/๒๒๓/๑๓๘)

๒๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด เลาะก็ดี ให้เลาะก็ดี ซึ่งจีวรของภิกษุณีแล้ว เธอไม่มีอันตรายในภายหลัง ไม่เย็บ ไม่ทำการขวนขวายเพื่อให้เย็บ พ้น ๔-๕ วันไป เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๒๗/๑๔๐)

๒๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผลัดเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิ อันมีกำหนด ๕ วัน ให้เกินไป เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๓๑/๑๔๓)

๒๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ใช้จีวรสับเปลี่ยนกับผู้อื่น เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๓๕/๑๔๕)

๒๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ทำลาภ คือจีวรของหมู่ ให้เป็นอันตราย เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๓๙/๑๔๗)

๒๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ห้ามการแจกจีวรอันเป็นไปโดยชอบธรรม เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๔๒/๑๔๙)

๒๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้สมณจีวรแก่ชาวบ้านก็ดี ปริพาชกก็ดี ปริพาชิกาก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๔๖/๑๕๑)

๒๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสมัยจีวรกาลให้ล่วงไป ด้วยหวังว่าจะได้จีวรอันไม่แน่นอน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๔๙/๑๕๓)

๓๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ห้ามการเดาะกฐินอันเป็นไปแล้วโดยธรรม เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๕๔/๑๕๖)

๓๑. อนึ่ง เหล่าภิกษุณีใด สองรูปนอนบนเตียงเดียวกัน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๕๘/๑๕๗)

๓๒. อนึ่ง เหล่าภิกษุณีใด สองรูป มีผ้าลาดและผ้าห่มผืนเดียวกันนอน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๖๑/๑๕๙)

๓๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด แกล้งก่อความไม่สำราญให้แก่ภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๖๕/๑๖๑)

๓๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่ช่วยเหลือ ไม่ขวนขวายเพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ซึ่งสหชีวินี (ศิษย์ผู้ที่ตนเป็นอุปัชฌาย์บวชให้, เพื่อนพรหมจรรย์) ผู้ได้รับความลำบาก เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๖๙/๑๖๓)

๓๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้ห้องพักแก่ภิกษุณีแล้ว โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๗๒/๑๖๖)

๓๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด อยู่คลุกคลีกับคหบดีก็ดี กับบุตรคหบดีก็ดี ภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าอย่าได้อยู่คลุกคลีกับคหบดี หรือบุตรคหบดี แม่เจ้าขอจงแยกออก สงฆ์ย่อมสรรเสริญความแยกออกอย่างเดียวแก่พี่น้องหญิง

แลภิกษุณีนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ หากยังยกย่องอย่างเดิมนั้นเทียว ภิกษุณีนั้นอันภิกษุณีทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์ (ตักเตือน) กว่าจะครบ ๓ จบ เพื่อให้สละการกระทำนั้น

หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์ กว่าจะครบ ๓ จบอยู่ สละการกระทำนั้นได้ นั่นเป็นการดี หากไม่สละเป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๗๖/๑๖๘)

๓๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่มีพวกเกวียนเป็นเพื่อน เที่ยวจาริกไปในสถานที่ซึ่งรู้กันอยู่ว่ามีภัยเฉพาะหน้า ภายในรัฐ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๘๓/๑๗๑)

๓๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่มีพวกเกวียนเป็นเพื่อน เที่ยวจาริกไปในสถานที่ซึ่งรู้กันอยู่ว่ามีภัยเฉพาะหน้า ภายนอกรัฐ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๘๖/๑๗๓)

๓๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด เที่ยวจาริกไปในภายในพรรษา เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๘๙/๑๗๕)

๔๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด อยู่จำตลอดฤดูฝนแล้ว ไม่หลีกไปสู่จาริก โดยที่สุดแม้สิ้นหนทาง ๕-๖ โยชน์ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๙๒/๑๗๗)

๔๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไปดูโรงละครหลวงก็ดี อาคารประกวดภาพก็ดี สถานที่หย่อนใจก็ดี อุทยานก็ดี สระโบกขรณีก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๙๕/๑๗๙)

๔๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ใช้ตั่งก็ดี แคร่ก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๒๙๘/๑๘๑)

๔๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด กรอด้าย เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๐๑/๑๘๓)

๔๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ทำงานช่วยเหลือสำหรับคฤหัสถ์ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๐๔/๑๘๕)

๔๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ผู้อันภิกษุณีกล่าวอยู่ว่า มาเถิดแม่เจ้า จงช่วยระงับอธิกรณ์นี้ รับคำว่าดีละแล้ว นางไม่มีอันตรายในภายหลัง ไม่ระงับ ไม่ทำการขวนขวายเพื่อระงับ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๐๗/๑๘๗)

๔๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ให้ของเคี้ยวหรือของบริโภคแก่ชาวบ้านก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตนเอง เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๑๑/๑๘๙)

๔๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ใช้ผ้าอาศัย(ผ้าซับระดู)คนเดียว ไม่ละ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๑๔/๑๙๑)

๔๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่มอบหมายห้องที่อยู่หลีกไปสู่จาริก เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๑๘/๑๙๔)

๔๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด เรียนติรัจฉานวิชา เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๒๒/๑๙๕)

๕๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด สอนติรัจฉานวิชา เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๒๕/๑๙๗)

๕๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด รู้อยู่ไม่บอกกล่าว เข้าไปสู่อารามที่มีภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๓๐/๒๐๐)

๕๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ด่าก็ดี กล่าวขู่ก็ดี ซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๓๔/๒๐๓)

๕๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ขึ้งเคียดกล่าวติเตียนหมู่คณะ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๓๙/๒๐๕)

๕๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด อันทายกนิมนต์แล้ว หรือห้ามภัตรแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยว หรือของฉัน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๔๒/๒๐๖)

๕๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด เป็นคนตระหนี่ตระกูล เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๔๖/๒๐๘)

๕๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด จำพรรษาอยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๔๙/๒๑๐)

๕๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด จำพรรษาแล้ว ไม่ปวารณาต่อสงฆ์สองฝ่าย ด้วยสถาน ๓ คือ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยรังเกียจก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๕๒/๒๑๒)

๕๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่ไปเพื่อรับโอวาทก็ดี หรือเพื่อธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกันด้วยดีก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๕๕/๒๑๔)

๕๙. อนึ่ง ทุก ๆ ระยะกึ่งเดือน ภิกษุณีพึงหวังเฉพาะธรรม ๒ ประการ จากภิกษุสงฆ์ คือการถามอุโบสถ ๑ การเข้าไปขอโอวาท ๑ เมื่อฝ่าฝืนธรรม ๒ อย่างนั้น เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๕๘/๒๑๖)

๖๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่บอกกล่าวสงฆ์หรือคณะ กับบุรุษหนึ่งต่อหนึ่ง ให้บ่งก็ดี ผ่าก็ดี ชะก็ดี ทาก็ดี พันก็ดี แกะก็ดี ซึ่งฝีหรือบาดแผลอันเกิดในร่มผ้า เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๖๑/๒๑๘)

๖๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีมีครรภ์ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๖๔/๒๒๐)

๖๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีมีลูกอ่อนให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๖๘/๒๒๒)
๖๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ (ศีลสำหรับสิกขมานา) ตลอดสองฝน ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๗๒/๒๒๕)

๖๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอดสองฝนแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๗๖/๒๒๘)

๖๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังเด็กหญิงชาวบ้านผู้มีอายุหย่อนสิบสองฝนให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๘๐/๒๓๑)

๖๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังเด็กหญิงมีอายุ ๑๒ ปีบริบูรณ์ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอดสองฝนให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๘๔/๒๓๓)

๖๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังเด็กหญิงมีอายุครบสิบสองปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอดสองฝนแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๘๘/๒๓๗)

๖๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสหชีวินีให้บวชแล้ว ไม่อนุเคราะห์ ไม่ยังผู้อื่นให้อนุเคราะห์ สิ้นสองฝน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๙๒/๒๓๙)

๖๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่ติดตามปวัตตินี (ภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์) ผู้ให้บวชสิ้นสองฝน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๙๕/๒๔๑)

๗๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสหชีวินีให้บวชแล้ว ไม่พาจาริกไปเอง ไม่ให้พาจาริกไป โดยที่สุดแม้สิ้นระยะทาง ๕-๖ โยชน์ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๓๙๘/๒๔๓)

๗๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีผู้เป็นกุมารี มีอายุหย่อน ๒๐ ปีให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๐๑/๒๔๖)

๗๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีผู้เป็นกุมารี มีอายุครบ ยี่สิบปีแล้ว ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอดสองฝน ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๐๕/๒๔๙)

๗๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีผู้เป็นกุมารี มีอายุครบยี่สิบปี ผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอดสองฝนแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ ให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๐๙/๒๕๓)

๗๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีพรรษาหย่อนสิบสอง ยังกุลธิดาให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๑๓/๒๕๕)

๗๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด มีพรรษาครบสิบสองแล้ว อันสงฆ์ยังมิได้สมมติ(แต่งตั้ง) ยังกุลธิดาให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๑๖/๒๕๘)

๗๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด อันภิกษุณีสงฆ์กล่าวอยู่ว่า ดูกรแม่เจ้า เธอยังไม่สมควรให้กุลธิดาบวชก่อน ดังนี้ รับคำว่า ดีแล้ว ภายหลังไปบ่นว่า เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๒๐/๒๖๐)

๗๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด กล่าวกะสิกขมานาว่า ดูกรแม่เจ้า ถ้าเธอจักให้จีวรแก่เรา เมื่อได้เช่นนี้ เราจึงจะให้อุปสมบท ดังนี้แล้ว นางไม่มีอันตราย ในภายหลัง ไม่อุปสมบท ไม่ทำการขวนขวายเพื่อให้อุปสมบท เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๒๓/๒๖๒)

๗๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด กล่าวกะสิกขมานาว่า ดูกรแม่เจ้า ถ้าเธอจักติดตามเราตลอด ๒ ปี เมื่อได้เช่นนี้ เราจึงจะให้เธออุปสมบท ดังนี้แล้ว นางไม่มีอันตราย ในภายหลังไม่ให้อุปสมบท ไม่ทำการขวนขวายเพื่อให้อุปสมบท เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๒๖/๒๖๔)

๗๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาผู้เกี่ยวข้องด้วยบุรุษ ผู้คลุกคลีกับเด็กหนุ่ม ผู้ดุร้าย ผู้ยังชายให้ระทมโศก ให้บวช ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓/๔๒๙/๒๖๖)

๘๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาผู้อันมารดาบิดาหรือสามียังมิได้อนุญาตให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๓๒/๒๖๘)

๘๑. อนึ่ง ภิกษุณีใดยังสิกขมานาให้บวชด้วยให้ฉันทะค้างเป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๓๕/๒๗๐)

๘๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาให้บวชทุก ๆ ฝน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๓๘/๒๗๒)

๘๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ฝนหนึ่งยังสิกขมานา ๒ รูปให้บวช เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๔๑/๒๗๔)

๘๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด มิใช่ผู้อาพาธ ใช้ร่มและรองเท้า เป็นปาจิตตีย์. (๓/๔๔๕/๒๗๗)

๘๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด มิใช่ผู้อาพาธ ไปโดยยาน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๕๐/๒๘๐)

๘๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ใช้เครื่องประดับเอว เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๕๔/๒๘๑)

๘๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ใช้เครื่องประดับสำหรับสตรี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๕๗/๒๘๓)

๘๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด อาบน้ำด้วยเครื่องประทิ่นมีกลิ่นหอม เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๖๐/๒๘๕)

๘๙. อนึ่ง ภิกษุณีใด อาบน้ำด้วยกำยานที่อบ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๖๓/๒๘๗)

๙๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังภิกษุณีให้นวดก็ดี ให้ฟั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๖๖/๒๘๙)

๙๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสิกขมานาให้นวดก็ดี ให้ฟั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๖๙/๒๙๑)

๙๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสามเณรีให้นวดก็ดี ให้ฟั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๗๑/๒๙๓)

๙๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ยังสตรีคฤหัสถ์ให้นวดก็ดี ให้ฟั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๗๑/๒๙๕)

๙๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่ขอโอกาส นั่งบนอาสนะเบื้องหน้าภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๗๒/๒๙๗)

๙๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ถามปัญหากะภิกษุผู้ที่ตนยังมิได้ขอโอกาส เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๗๖/๒๙๙)

๙๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่มีผ้ารัดถัน เข้าบ้าน เป็นปาจิตตีย์ (๓/๔๘๐/๓๐๑)

ปาจิตตีย์สำหรับภิกษุณี ๑๖๖ สิกขาบท ประกอบด้วยสิกขาบทเฉพาะภิกษุณี ๙๖ สิกขาบท รวมกับปาจิตตีย์สำหรับพระภิกษุสิกขาบทที่ ๑-๒๐, ๓๑, ๓๒, ๓๔, ๓๗, ๓๘, ๔๐, ๔๒-๖๓, ๖๖, ๖๘-๘๒, ๘๔, ๘๖-๘๘, ๙๐, ๙๒ อีก ๗๐ สิกขาบท

ปาฏิเทสนียะ

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องติเตียนตนเองจึงพ้นผิด
(ปาฏิเทสนียกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอเนยใสมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๘๕/๓๐๔)

๒. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอน้ำมันมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๐/๓๐๗)

๓. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอน้ำผึ้งมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๑๐)

๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอน้ำอ้อยมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๑๓)

๕. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอปลามาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๑๖)

๖. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอเนื้อมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๑๙)

๗. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอนมสดมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๒๒)

๘. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไม่เป็นไข้ ขอนมส้มมาฉัน ภิกษุณีนั้นพึงแสดงคืนว่า แม่เจ้า ดิฉันต้องธรรมที่น่าติ  ไม่เป็นสัปปายะ ควรจะแสดงคืน ดิฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๓/๔๙๓/๓๒๕)

เสขิยะ

ว่าด้วยจรรยามารยาทอันงาม
(เสขิยกัณฑ์)

เสขิยสำหรับภิกษุณีพึงเป็นเช่นเดียวกับเสขิยสำหรับภิกษุในมหาวิภังค์ (ดูบท ภิกขุวิภังค์) (๓/๔๙๘/๓๒๙)