Main navigation

อุปัชฌายวัตร

ทรงให้อยู่ร่วมกันด้วยระบบพ่อกับลูก

(อุปัชฌายวัตร)

สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีใครตักเตือน ไม่มีใครพร่ำสอน ย่อมนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมรรยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อประชาชนกำลังบริโภค ย่อมน้อมบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปข้างบนของควรบริโภคบ้าง ข้างบนของควรเคี้ยวบ้าง ข้างบนของควรลิ้มบ้าง ข้างบนของควรดื่มบ้าง ขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้างด้วยตนเอง มาฉัน แม้ในโรงอาหารก็เป็นผู้มีเสียงอื้ออึง มีเสียงดังอยู่  (๔/๗๗/๖๒)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว จึงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความกำจัด ความขัดเกลา อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌายะ อุปัชฌายะจักตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริกจักตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌายะฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌายะและสัทธิวิหาริกนั้น ต่างจักมีความเคารพ ยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสัทธิวิหาริกพึงถืออุปัชฌายะอย่างนี้


วิธีถืออุปัชฌายะ

สัทธิวิหาริกนั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวคำอย่างนี้ ๓ หน

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอุปัชฌายะของข้าพเจ้า

อุปัชฌายะรับว่า ดีละ เบาใจละ ชอบแก่อุบายละ สมควรละ หรือรับว่า จงยังความปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด ดังนี้ก็ได้ รับด้วยกาย หรือรับด้วยวาจาก็ได้ เป็นอันสัทธิวิหาริกถืออุปัชฌายะแล้ว (๔/๗๘-๘๐/๖๓-๖๔)


อุปัชฌายวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบในอุปัชฌายะ วิธีประพฤติชอบในอุปัชฌายะนั้น มีดังต่อไปนี้

๑. สัทธิวิหาริกพึงลุกแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้ ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะแล้วน้อมยาคูเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌายะดื่มยาคูแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมา ถือต่ำๆ อย่าให้กระทบกัน ล้างให้สะอาดแล้วเก็บไว้

๒. เมื่ออุปัชฌายะลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ

๓. ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

๔. ถ้าอุปัชฌายะประสงค์จะเข้าบ้าน พึงถวายผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงถวายประคดเอว พึงพับผ้าสังฆาฏิเป็นชั้นถวาย พึงล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำด้วย

๕. ถ้าอุปัชฌายะปรารถนาจะให้เป็นปัจฉาสมณะ (ผู้เดินตามหลัง) พึงนุ่งให้เป็นปริมณฑลแล้วคาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิ ทำเป็นชั้น กลัดดุม ล้างบาตรแล้ว ถือไป เป็นปัจฉาสมณะของอุปัชฌายะ ไม่พึงเดินให้ห่างนัก ไม่พึงเดินให้ชิดนัก พึงรับวัตถุที่เนื่องในบาตร

๖. เมื่ออุปัชฌายะกำลังพูด ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง

๗. อุปัชฌายะกล่าวถ้อยคำใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย

๘. เมื่อกลับ พึงมาก่อน แล้วปูอาสนะที่นั่งฉันไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้

๙. พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา

๑๐. ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดไว้ครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อพับจีวร พึงพับให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงทำประคดเอวไว้ในขนดอันตรวาสก

๑๑. ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌายะประสงค์จะฉัน พึงถวายน้ำ แล้วน้อมบิณฑบาตเข้าไปถวาย

๑๒. พึงถามอุปัชฌายะด้วยน้ำฉัน เมื่ออุปัชฌายะฉันแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา ถือต่ำๆ อย่าให้กระทบ ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้งแล้ว ผึ่งไว้ที่แดดครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด

๑๓. พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วจึงเก็บจีวร

๑๔. เมื่ออุปัชฌายะลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

๑๕. ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

๑๖. ถ้าอุปัชฌายะใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนถวาย

๑๗. ถ้าอุปัชฌายะประสงค์จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วเดินตามหลังอุปัชฌายะไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้ว รับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงถวายจุณ ถวายดิน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้า ข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่พึงห้ามกันอาสนะ ภิกษุใหม่พึงทำบริกรรมแก่อุปัชฌายะในเรือนไฟ (ทำบริกรรมในเรือนไฟ หมายถึงการถวายขี้เถ้า ดินเหนียว และน้ำร้อน เป็นต้น)

๑๘. เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลังออกจากเรือนไฟ

๑๙. พึงทำบริกรรมแก่อุปัชฌายะแม้ในน้ำ (ทำบริกรรมในน้ำ หมายถึงการขัดถูร่างกาย) อาบเสร็จแล้ว พึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้ว พึงเช็ดน้ำจากตัวของอุปัชฌายะ พึงถวายผ้านุ่ง พึงถวายผ้าสังฆาฏิ

๒๐. ถือตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้

๒๑. พึงถามอุปัชฌายะด้วยน้ำฉัน

๒๒. ถ้าประสงค์จะเรียนบาลี พึงขอให้อุปัชฌายะแสดงบาลีขึ้น ถ้าประสงค์จะสอบถามอรรถกถา พึงสอบถาม

๒๓. อุปัชฌายะอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย

เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตรจีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พึงขนผ้าปูนั่ง และผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เตียงตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกต่ำ ๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนออกให้เรียบร้อย แล้วตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เขียงรองเตียง กระโถน พนักอิงพึงขนออก ตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เครื่องปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม แล้วขนออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้องพึงเช็ดเสีย

ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นเขาทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสีย

ระวังอย่าให้วิหารฟุ้งด้วยธุลี พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ เคาะปัด แล้วขนกลับปูไว้ตามเดิม

เขียงรองเตียงพึงผึ่งแดด ขัด เช็ด แล้วขนกลับตั้งไว้ที่เดิม

เตียงตั่ง พึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะเสีย ยกต่ำ ๆ อย่าให้ครูดสี กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับไปให้ดี ๆ แล้วตั้งไว้ตามเดิม

ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงผึ่งแดด ทำให้สะอาด ตบเสีย แล้วนำกลับวางปูไว้ตามเดิม

กระโถน พนักอิง พึงผึ่งแดด เช็ดถูเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่งแล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรบนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง

เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างใน แล้วเก็บจีวร

ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้

ถ้าฤดูหนาวพึงเปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงปิด ถ้าฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน กลางคืนพึงเปิด

๒๔. ถ้าบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎี รก พึงปัดกวาดเสีย

๒๕. ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ

๒๖. ถ้าความกระสันบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น

๒๗. ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น

๒๘. ถ้าความเห็นผิดบังเกิดแก่อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมกถาแก่อุปัชฌายะนั้น.

๒๙. ถ้าอุปัชฌายะต้องอาบัติหนักควรปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌายะ

๓๐. ถ้าอุปัชฌายะควรชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌายะเข้าหาอาบัติเดิม

๓๑. ถ้าอุปัชฌายะควรมานัต สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌายะ

๓๒. ถ้าอุปัชฌายะควรอัพภาน สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่าด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌายะ

๓๓. ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะทำกรรมแก่อุปัชฌายะ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌายะ หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา

หรืออุปัชฌายะนั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌายะ พึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงประพฤติแก้ตัว สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย

๓๔. ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌายะ

๓๕. ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องทำ สัทธิวิหาริกพึงทำ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงทำจีวรของอุปัชฌายะ

๓๖. ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌายะจะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌายะ

๓๗. ถ้าจีวรของอุปัชฌายะจะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌายะ เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย

๓๘. สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌายะก่อน ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรม ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้

ไม่พึงทำความขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งให้ภิกษุบางรูปทำความขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปให้ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปนำบิณฑบาตมาให้

๓๙. ไม่ลาอุปัชฌายะก่อน ไม่พึงเข้าบ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงหลีกไปสู่ทิศ

๔๐. ถ้าอุปัชฌายะอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าจะหาย

 

(๔/๘๑/๖๔-๖๘)

 

สัทธิวิหาริกวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก วิธีประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกนั้น มีดังต่อไปนี้

สัทธิวิหาริกวัตร

๑. อุปัชฌายะพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์ สัทธิวิหาริก ด้วยสอนบาลีและอรรถกถา ด้วยให้โอวาทและอนุศาสนี

๒. ถ้าอุปัชฌายะมีบาตร สัทธิวิหาริกไม่มีบาตร อุปัชฌายะพึงให้บาตรแก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก

๓. ถ้าอุปัชฌายะมีจีวร สัทธิวิหาริกไม่มีจีวร อุปัชฌายะพึงให้จีวรแก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก

๔. ถ้าอุปัชฌายะมีบริขาร สัทธิวิหาริกไม่มีบริขาร อุปัชฌายะพึงให้บริขารแก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก

๕. ถ้าสัทธิวิหาริกอาพาธ อุปัชฌายะพึงลุกแต่เช้าตรู่ แล้วให้ไม้ชำระฟัน ให้น้ำล้างหน้า ปูอาสนะไว้ ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะแล้ว นำยาคูเข้าไปให้ เมื่อสัทธิวิหาริกดื่มยาคูแล้ว พึงให้น้ำรับภาชนะมา ถือต่ำ ๆ อย่าให้กระทบกัน ล้างให้สะอาดแล้วเก็บไว้

๖. เมื่อสัทธิหาริกลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ

๗. ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

๘. ถ้าสัทธิวิหาริกประสงค์จะเข้าบ้าน พึงให้ผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงให้ประคดเอว พึงพับสังฆาฏิเป็นชั้นให้ พึงล้างบาตรแล้วให้พร้อมทั้งน้ำด้วย

๙. พึงปูอาสนะที่นั่งฉันไว้ ด้วยกำหนดในใจว่าเพียงเวลาเท่านี้ สัทธิวิหาริกจักกลับมา น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าพึงเตรียมตั้งไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงให้ผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา

๑๐. ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดไว้ครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อพับจีวร พึงพับให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงทำประคดเอวไว้ในขนดอันตรวาสก

๑๑. ถ้าบิณฑบาตมี และสัทธิวิหาริกประสงค์จะฉัน พึงให้น้ำแล้วนำบิณฑบาตเข้าไปให้ พึงถามสัทธิวิหาริกด้วยน้ำฉัน เมื่อสัทธิวิหาริกฉันแล้ว พึงให้น้ำ รับบาตรมา ถือต่ำๆ อย่าให้กระทบ ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วพึงผึ่งไว้ที่แดดครู่หนึ่ง แต่ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด

๑๒. พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่งแล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างในแล้วจึงเก็บจีวร

๑๓. เมื่อสัทธิวิหาริกลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

๑๔. ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย

๑๕. ถ้าสัทธิวิหาริกใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงให้ ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัดน้ำเย็นให้ ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนให้

๑๖. ถ้าสัทธิวิหาริกประสงค์จะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟไป แล้วให้ตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พึงให้จุณ ให้ดิน

ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุผู้เถระ ไม่พึงห้ามกันอาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกในเรือนไฟ

๑๗. เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง ออกจากเรือนไฟ

๑๘. พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกแม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้วพึงขึ้นมาก่อน ทำตัวของตนให้แห้งน้ำ นุ่งผ้าแล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวของสัทธิวิหาริก พึงให้ผ้านุ่ง พึงให้ผ้าสังฆาฏิ

๑๙. พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้

๒๐. พึงถามสัทธิวิหาริกด้วยน้ำฉัน

๒๑. สัทธิวิหาริกอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงปัดกวาดเสีย เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตรจีวรออกก่อนแล้ววางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พึงขนผ้าปูนั่ง และผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เตียงตั่ง อุปัชฌายะพึงยกต่ำ ๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนออกให้เรียบร้อย แล้วตั้งไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เขียงรองเตียง กระโถน พนักอิงพึงขนออก วางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เครื่องปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้ที่เดิม แล้วขนออก วางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน

กรอบหน้าต่างและมุมห้อง พึงเช็ดเสีย

ถ้าฝาเขาทำบริกรรมด้วยน้ำมัน หรือพื้นเขาทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ดเสีย ถ้าพื้นเขามิได้ทำ พึงเอาน้ำประพรมแล้วเช็ดเสีย

ระวังอย่าให้วิหารฟุ้งด้วยธุลี พึงกวาดหยากเยื่อทิ้งเสีย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ เคาะปัด แล้วขนกลับปูไว้ตามเดิม

เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด ขัด เช็ดแล้ว ขนกลับไว้ในที่เดิม

เตียงตั่ง พึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะเสีย ยกต่ำ ๆ อย่าให้ครูดสี อย่าให้กระทบกระแทกบานและกรอบประตู ขนกลับไปให้ดี ๆ แล้วตั้งไว้ตามเดิม

ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน พึงผึ่งแดด ทำให้สะอาด ตบเสีย แล้วนำกลับวางปูไว้ตามเดิม

กระโถนพนักอิง พึงผึ่งแดด เช็ดถูเสีย แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

พึงเก็บบาตรจีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บบาตร แต่ไม่พึงวางบาตรบนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง

เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียงแล้ว ทำชายไว้ข้างนอก ทำขนดไว้ข้างในแล้วจึงเก็บจีวร

ถ้าลมเจือด้วยผงคลีพัดมาแต่ทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้าพัดมาแต่ทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้าพัดมาแต่ทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้าพัดมาแต่ทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้ ถ้าฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน พึงปิดกลางคืน

ถ้าฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน พึงเปิดกลางคืน

๒๒. ถ้าบริเวณ ซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎี รก พึงปัดกวาดเสีย

๒๓. ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้ ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ

๒๔. ถ้าความกระสันบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึงช่วยระงับหรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงทำธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น

๒๕. ถ้าความรำคาญบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึงบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงทำธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น

๒๖. ถ้าความเห็นผิดบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึงให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงทำธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น

๒๗. ถ้าสัทธิวิหาริกต้องอาบัติหนัก ควรปริวาส อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่สัทธิวิหาริก

๒๘. ถ้าสัทธิวิหาริกควรชักเข้าหาอาบัติเดิม อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักสัทธิวิหาริกเข้าหาอาบัติเดิม

๒๙. ถ้าสัทธิวิหาริกควรมานัต อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่สัทธิวิหาริก

๓๐. ถ้าสัทธิวิหาริกควรอัพภาน อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานสัทธิวิหาริก

๓๑. ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะทำกรรมแก่สัทธิวิหาริก คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่สัทธิวิหาริก หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมสถานเบา

๓๒. ถ้าสัทธิวิหาริกนั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงประพฤติแก้ตัว สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย

๓๓. ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องซัก อุปัชฌายะพึงบอกว่า ท่านพึงซักอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของสัทธิวิหาริก

๓๔. ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องทำ อุปัชฌายะพึงบอกว่า ท่านพึงทำอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่าด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงทำจีวรของสัทธิวิหาริก

๓๕. ถ้าน้ำย้อมของสัทธิวิหาริกจะต้องต้ม อุปัชฌายะพึงบอกว่า ท่านพึงต้มอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของสัทธิวิหาริก

๓๖. ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องย้อม อุปัชฌายะพึงบอกว่าท่านพึงย้อมอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของสัทธิวิหาริก เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปมาให้ดีๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย

๓๗. ถ้าสัทธิวิหาริกอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าจะหาย

(๔/๘๒/๖๙-๗๒)

อาจารย์

(มหาวรรค)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์

อาจารย์จักตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร อันเตวาสิกจักตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และอันเตวาสิกนั้นต่างจักมีความเคารพ ยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุมีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสสัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้ อันเตวาสิกนั้นพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ ๓ หน

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่

ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่

อาจารย์รับว่า ดีละ เบาใจละ ชอบแก่อุบายละ สมควรละ หรือรับว่าจงยังความปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด ดังนี้ก็ได้ รับด้วยกาย รับด้วยวาจา รับด้วยทั้งกายวาจาก็ได้ เป็นอันว่าอันเตวาสิกถืออาจารย์แล้ว (๔/๙๒/๘๕)


อาจริยวัตร

อาจารย์และอันเตวาสิก พึงมีวัตรปฏิปทาเช่นเดียวกับอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก

(๔/๙๓-๙๔/๘๕)


นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌายะ ๕ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. อุปัชฌายะหลีกไป

๒. สึกเสีย

๓. ถึงมรณภาพ

๔. ไปเข้ารีดเดียรถีย์ และ

๕. สั่งบังคับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌายะ ๕ อย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. อาจารย์หลีกไป

๒. สึกเสีย

๓. ถึงมรณภาพ

๔. ไปเข้ารีดเดียรถีย์

๕. สั่งบังคับ และ

๖. ไปร่วมเข้ากับอุปัชฌายะที่พ้นสภาพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ อย่างนี้แล    

(๔/๙๗/๙๘)


องค์แห่งภิกษุผู้ไม่ต้องถือนิสสัยกับอุปัชฌาย์อาจารย์อีกต่อไป

(มหาวรรค)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณเหล่านี้ ไม่ต้องถือนิสสัย คือ

๑. ตนเองประกอบด้วยกองศีล อันเป็นของพระอเสขะ

๒. ตนเองประกอบด้วยกองสมาธิ อันเป็นของพระอเสขะ

๓. ตนเองประกอบด้วยกองปัญญา อันเป็นของพระอเสขะ

๔. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุติ อันเป็นของพระอเสขะ

๕. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นของพระอเสขะ (๔/๑๑๖/๑๒๙)

๖. เป็นผู้มีศรัทธา

๗. เป็นผู้มีหิริ

๘. เป็นผู้มีโอตตัปปะ

๙. เป็นผู้ปรารภความเพียร

๑๐. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น (๔/๑๑๖/๑๓๐)

๑๑. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล

๑๒. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร

๑๓. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฏฐิ ในทิฏฐิยิ่ง

๑๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก

๑๕. เป็นผู้มีปัญญา (๔/๑๑๖/๑๓๐)

๑๖. รู้จักอาบัติ

๑๗. รู้จักอนาบัติ

๑๘. รู้จักอาบัติเบา

๑๙. รู้จักอาบัติหนัก

๒๐. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยเรียบร้อยโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ (๔/๑๑๖/๑๓๑)

๒๑. มีพรรษาได้ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕ (๔/๑๑๖/๑๓๒)

๒๒. ผู้อยู่ป่าเป็นวัตรด้วยความผาสุก   (๔/๑๓๘/๑๕๒) 

อาคันตุกวัตร

ข้อปฏิบัติของผู้มาเยือน

(วัตตขันธกะ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาคันตุกะเข้าไปสู่อาราม พึงถอดรองเท้าเคาะ แล้วถือไปต่ำ ๆ ลดร่ม เปิดศีรษะ ลดจีวรบนศีรษะลงไว้ที่บ่า ไม่ต้องรีบร้อน เข้าไปสู่อารามตามปกติ

เมื่อเข้าไปสู่อารามพึงสังเกตว่า ภิกษุเจ้าถิ่นประชุมกันที่ใด คือ ที่โรงฉัน มณฑป หรือโคนไม้ พึงไปที่นั่น

วางบาตรไว้ที่แห่งหนึ่ง วางจีวรไว้ที่แห่งหนึ่ง พึงถืออาสนะที่สมควรนั่ง

พึงถามถึงน้ำฉัน พึงถามถึงน้ำใช้ว่า ไหนน้ำฉัน ไหนน้ำใช้ ถ้าต้องการน้ำฉัน พึงตักน้ำฉันหาดื่ม ถ้าต้องการน้ำใช้ พึงตักน้ำใช้มาล้างเท้า

เมื่อล้างเท้า พึงรดน้ำด้วยมือข้างหนึ่ง พึงล้างเท้าด้วยมือข้างหนึ่ง รดน้ำด้วยมือใด ไม่พึงล้างเท้าด้วยมือนั้น

พึงถามถึงผ้าเช็ดรองเท้า แล้วจึงเช็ดรองเท้า เมื่อจะเช็ดรองเท้า พึงใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อน ใช้ผ้าเปียกเช็ดทีหลัง พึงซักผ้าเช็ดรองเท้า บิดแล้วผึ่งไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

ถ้าภิกษุเจ้าถิ่นแก่พรรษากว่า พึงอภิวาท ถ้าอ่อนพรรษากว่า พึงให้เธออภิวาท

พึงถามถึงเสนาสนะว่า เสนาสนะไหนถึงแก่ผม พึงถามถึงเสนาสนะที่มีภิกษุอยู่หรือที่ไม่มีภิกษุอยู่

พึงถามถึงโคจรคาม พึงถามถึงอโคจรคาม พึงถามถึงสกุลทั้งหลายที่ได้รับสมมติว่าเป็นเสกขะ

พึงถามถึงที่ถ่ายอุจจาระ พึงถามถึงที่ถ่ายปัสสาวะ

พึงถามถึงไม้เท้า

พึงถามถึงกติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า ควรเข้าเวลาเท่าไร ควรออกเวลาเท่าไร

ถ้าวิหารไม่มีภิกษุอยู่ พึงเคาะประตูรออยู่สักครู่หนึ่งแล้วถอดลิ่มผลักบานประตู ยืนอยู่ข้างนอกแลดูให้ทั่ว

ถ้าวิหารรก หรือเตียงซ้อนอยู่บนเตียง หรือตั่งซ้อนอยู่บนตั่ง เสนาสนะมีละอองจับอยู่เบื้องบน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงชำระเสีย

เมื่อจะชำระวิหาร พึงขนเครื่องลาดพื้นออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่งก่อน

พึงขนเขียงรองเท้าเตียงออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

พึงขนฟูกและหมอนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

พึงขนผ้านิสีทนะและผ้าปูนอนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

เตียง ตั่ง อันภิกษุพึงยกต่ำ ๆ ทำให้เรียบร้อย อย่าให้ครูดสีกระทบบานและกรอบประตู ขนไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

กระโถนพึงขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

พนักอิงพึงขนออกไปวางไว้ที่ควรแห่งหนึ่ง

ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดแต่เพดานลงมาก่อน

พึงเช็ดกรอบหน้าต่าง ประตูและมุมห้อง

ถ้าฝาทาน้ำมันขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด

ถ้าพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงเอาผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด ถ้าพื้นไม่ได้ทา พึงเอาน้ำพรมแล้วกวาด ด้วยคิดว่าอย่าให้ฝุ่นกลบวิหาร พึงเก็บกวาดหยากเยื่อไปทิ้งเสีย ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง

เครื่องลาดพื้น พึงผึ่งแดดชำระเคาะปัด แล้วขนกลับไปปูไว้ตามเดิม

เขียงรองเท้าเตียง พึงผึ่งแดด ขัดเช็ด แล้วขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ขัดสี เคาะ ยกต่ำๆ ทำให้ดี อย่าให้ครูดสีกระทบบานและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม

ฟูกและหมอนตากแห้งแล้ว เคาะปัดให้สะอาด ขนกลับวางไว้ตามเดิม

ผ้าปูนั่งและผ้าปูนอนตากแห้งแล้ว สลัดให้สะอาด ขนกลับปูไว้ตามเดิม

กระโถน พนักอิง ตากแล้ว พึงเช็ด ขนกลับไปตั้งไว้ตามเดิม

พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้างหนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง แล้วเก็บบาตร แต่อย่าเก็บบาตรบนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง

เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง พึงทำชายไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้างใน เก็บจีวร

ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ ถ้ามีลมเจือด้วยผงคลีพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้

ถ้าฤดูหนาว กลางวันพึงเปิดหน้าต่าง กลางคืนพึงปิด ถ้าฤดูร้อน กลางวันพึงปิดหน้าต่าง กลางคืนพึงเปิด

ถ้าบริเวณซุ้มน้ำ โรงฉัน โรงไฟ วัจจกุฎีรก พึงปัดกวาดเสีย

ถ้าน้ำฉัน น้ำใช้ไม่มี พึงจัดตั้งไว้

ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำมาไว้ในหม้อชำระ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรของภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายซึ่งพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๑๕/๑๔๕-๑๔๗) 

อาวาสิกวัตร

ข้อปฏิบัติของเจ้าถิ่น

(วัตตขันธกะ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจ้าถิ่นเห็นภิกษุอาคันตุกะผู้แก่กว่าแล้ว พึงปูอาสนะ พึงตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

พึงลุกรับบาตร จีวร พึงถามด้วยน้ำฉัน พึงถามด้วยน้ำใช้

ถ้าอุตสาหะ พึงเช็ดรองเท้า เมื่อจะเช็ดรองเท้า พึงใช้ผ้าแห้งเช็ดก่อนใช้ผ้าเปียกเช็ดทีหลัง พึงซักผ้าเช็ดรองเท้าบิดแล้วผึ่งไว้ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง

พึงอภิวาทภิกษุอาคันตุกะผู้แก่กว่า

พึงจัดเสนาสนะถวายว่า เสนาสนะนั่นถึงแก่ท่าน พึงบอกเสนาสนะที่มีภิกษุอยู่หรือไม่มีภิกษุอยู่

พึงบอกโคจรคาม พึงบอกอโคจรคาม

พึงบอกสกุลที่เป็นเสกขะสมมติ

พึงบอกที่ถ่ายอุจจาระ พึงบอกที่ถ่ายปัสสาวะ

พึงบอกน้ำฉัน พึงบอกน้ำใช้

พึงบอกไม้เท้า

พึงบอกกติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า เวลานี้ควรเข้า เวลานี้ควรออก

ถ้าภิกษุอาคันตุกะอ่อนพรรษากว่า พึงนั่งบอกว่า ท่านจงวางบาตรที่นั่น จงวางจีวรที่นั่น จงนั่งอาสนะนี้

พึงบอกน้ำฉัน พึงบอกน้ำใช้

พึงบอกผ้าเช็ดรองเท้า

พึงแนะนำภิกษุอาคันตุกะให้อภิวาท

พึงบอกเสนาสนะว่า เสนาสนะนั่นถึงแก่ท่าน พึงบอกเสนาสนะที่มีภิกษุอยู่หรือไม่มีภิกษุอยู่

พึงบอกโคจรคาม พึงบอกอโคจรคาม

พึงบอกสกุลที่เป็นเสกขะสมมติ

พึงบอกที่ถ่ายอุจจาระ พึงบอกที่ถ่ายปัสสาวะ

พึงบอกน้ำฉัน พึงบอกน้ำใช้

พึงบอกไม้เท้า

พึงบอกกติกาสงฆ์ที่ตั้งไว้ว่า เวลานี้ควรเข้า เวลานี้ควรออก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรของภิกษุเจ้าถิ่นทั้งหลายซึ่งพึงประพฤติเรียบร้อย    

(๗/๔๑๗/๑๔๗-๑๔๘) 

คมิกวัตร

ข้อปฏิบัติของผู้จะจากไป

(วัตตขันธกะ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เตรียมจะไป พึงมอบหมายเสนาสนะ ถ้าภิกษุไม่มี พึงมอบหมายสามเณร ถ้าสามเณรไม่มี พึงมอบหมายคนวัด ถ้าคนวัดไม่มี พึงมอบหมายอุบาสก

ถ้าไม่มีภิกษุ สามเณร คนวัด หรืออุบาสก พึงยกเตียงขึ้น วางไว้บนศิลา ๔ แผ่น แล้วพึงยกเตียงซ้อนเตียง ยกตั่งซ้อนตั่ง แล้วกองเครื่องเสนาสนะไว้ข้างบน เก็บเครื่องไม้ เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วจึงหลีกไป

ถ้าวิหารฝนรั่วถ้าอุตสาหะอยู่ พึงมุง หรือพึงทำความขวนขวายว่า จะมุงวิหารได้อย่างไร ถ้าได้ตามความขวนขวายอย่างนี้ นั่นเป็นความดี ถ้าไม่ได้ ที่ใดฝนไม่รั่ว พึงยกเตียงขึ้นวางบนศิลา ๔ แผ่นในที่นั้น แล้วพึงยกเตียงซ้อนเตียง ยกตั่งซ้อนตั่ง แล้วกองเครื่องเสนาสนะไว้ข้างบน เก็บเครื่องไม้ เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วจึงหลีกไป

ถ้าวิหารฝนรั่วทุกแห่ง ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงขนเครื่องเสนาสนะเข้าบ้าน หรือพึงทำความขวนขวายว่า จะขนเครื่องเสนาสนะ เข้าบ้านอย่างไร ถ้าได้ตามความขวนขวายอย่างนี้ นั่นเป็นความดี ถ้าไม่ได้ พึงยกเตียงขึ้นวางบนก้อนศิลา ๔ แผ่นในที่แจ้ง แล้วพึงยกเตียงซ้อนเตียง ยกตั่งซ้อนตั่ง กองเครื่องเสนาสนะไว้ข้างบน เก็บเครื่องไม้ เครื่องดิน แล้วคลุมด้วยหญ้าหรือใบไม้ แล้วจึงหลีกไปด้วยคิดว่า อย่างไรเสีย ส่วนของเตียงตั่งคงเหลืออยู่บ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรของภิกษุผู้เตรียมจะไป ซึ่งพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๑๙/๑๔๘-๑๔๙)