Main navigation

บิณฑบาตวัตร

ปิณฑจาริกวัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คิดว่า จักเข้าบ้านในบัดนี้ พึงนุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มผ้าซ้อน ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ล้างบาตร แล้วถือเข้าบ้านโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน

พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน

พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน

พึงมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน

อย่าเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน

อย่าหัวเราะลั่นไปในละแวกบ้าน

พึงมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้าน

อย่าโยกกายไปในละแวกบ้าน

อย่าไกวแขนไปในละแวกบ้าน

อย่าโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน

อย่าค้ำกายไปในละแวกบ้าน

อย่าคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน

อย่าเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้าน

เมื่อเข้านิเวศน์พึงกำหนดว่า จักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้

อย่ารีบร้อนเข้าไป อย่ารีบร้อนออกเร็วนัก

อย่ายืนไกลนัก อย่ายืนใกล้นัก

อย่ายืนนานนัก อย่ากลับเร็วนัก

พึงยืนกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาพักการงาน ลุกจากที่นั่งจับทัพพี หรือจับภาชนะ หรือตั้งไว้ พึงยืนด้วยคิดว่าเขาประสงค์จะถวาย

เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกผ้าซ้อนด้วยมือซ้าย พึงน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา แล้วพึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา และไม่พึงมองดูหน้าผู้ถวายภิกษา

พึงกำหนดว่าเขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาจับทัพพี จับภาชนะ หรือตั้งไว้ พึงยืนอยู่ด้วยคิดว่าเขาประสงค์จะถวาย

เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยผ้าซ้อน แล้วกลับโดยเรียบร้อยไม่ต้องรีบร้อน

พึงปกปิดกายด้วยดี ไปในละแวกบ้าน

พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน

พึงมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงหัวเราะลั่นไปในละแวกบ้าน

พึงมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงโยกกายไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงไกวแขนไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงค้ำกายไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน

ไม่พึงเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้าน

ภิกษุใดกลับบิณฑบาตจากบ้านก่อน ภิกษุนั้นพึงปูอาสนะไว้ พึงจัดตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า พึงล้างภาชนะรองของฉันตั้งไว้ พึงตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้

ภิกษุใดกลับบิณฑบาตจากบ้านทีหลัง ถ้าอาหารที่ฉันแล้วยังเหลืออยู่ ถ้าจำนงก็พึงฉัน ถ้าไม่จำนงก็พึงเททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือพึงเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์

ภิกษุนั้นพึงรื้อขนอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า

พึงล้างภาชนะรองของฉันเก็บไว้ พึงเก็บน้ำฉันน้ำใช้ พึงกวาดโรงฉัน

ภิกษุใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า ภิกษุนั้นพึงจัดหาไปตั้งไว้ ถ้าเป็นการสุดวิสัย พึงกวักมือเรียกเพื่อนมา ให้ช่วยกันจัดตั้งไว้ แต่ไม่พึงเปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นวัตรของภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ซึ่งภิกษุพึงประพฤติเรียบร้อย

(๗/๔๒๗/๑๕๓-๑๕๔)

 

ภัตตกิจ

ภัตตัคควัตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภัตตุเทสก์บอกภัตกาลในอาราม ภิกษุพึงนุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มผ้าซ้อน ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้วถือเข้าบ้านโดยเรียบร้อยไม่ต้องรีบร้อน

ไม่พึงเดินแซงไปข้างหน้าพระเถระทั้งหลาย

พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน

พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน

พึงมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน

อย่าเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน

อย่าหัวเราะลั่นไปในละแวกบ้าน

พึงมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้าน

อย่าโยกกายไปในละแวกบ้าน

อย่าไกวแขนไปในละแวกบ้าน

อย่าโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน

อย่าค้ำกายไปในละแวกบ้าน

อย่าคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน

อย่าเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้าน

พึงปกปิดกายด้วยดีนั่งในละแวกบ้าน

พึงสำรวมด้วยดีนั่งในละแวกบ้าน

พึงมีตาทอดลงนั่งในละแวกบ้าน

อย่าเวิกผ้านั่งในละแวกบ้าน

อย่าหัวเราะลั่นนั่งในละแวกบ้าน

พึงมีเสียงน้อยนั่งในละแวกบ้าน

อย่าโยกกายนั่งในละแวกบ้าน

อย่าไกวแขนนั่งในละแวกบ้าน

อย่าโคลงศีรษะนั่งในละแวกบ้าน

อย่าค้ำกายนั่งในละแวกบ้าน

อย่าคลุมศีรษะนั่งในละแวกบ้าน

อย่านั่งรัดเข่าในละแวกบ้าน

อย่านั่งเบียดเสียดพระเถระ

อย่าเกียดกันภิกษุใหม่ด้วยอาสนะ

อย่านั่งทับสังฆาฏิในละแวกบ้าน

เมื่อเขาถวายน้ำ (ล้างบาตรเปล่า) พึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับน้ำ พึงล้างบาตรถือต่ำ ๆ ให้ดี อย่าให้ครูดสี ถ้ากระโถนมี พึงค่อย ๆ เทน้ำลงในกระโถน ด้วยคิดว่ากระโถนอย่าเลอะเทอะด้วยน้ำ ภิกษุใกล้เคียงอย่าถูกน้ำกระเซ็น ผ้าสังฆาฏิอย่าถูกน้ำกระเซ็น

ถ้ากระโถนไม่มี พึงค่อย ๆ เทน้ำลงที่พื้นดิน ด้วยคิดว่าภิกษุใกล้เคียงอย่าถูกน้ำกระเซ็น ผ้าสังฆาฏิอย่าถูกน้ำกระเซ็น

เมื่อเขาถวายข้าวสุก พึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับข้าวสุก พึงเว้นเนื้อที่ไว้สำหรับแกง

ถ้ามีเนยใส น้ำมัน หรือแกงอ่อม พระเถระควรบอกว่า จงจัดถวายภิกษุทั้งหลายเท่า ๆ กันทุกรูป

พึงรับบิณฑบาตโดยเคารพ พึงมีความสำคัญในบาตรรับบิณฑบาต

พึงรับบิณฑบาตพอสมกับแกง พึงรับบิณฑบาตพอเสมอขอบปากบาตร

พระเถระไม่พึงฉันก่อนจนกว่าข้าวสุกจะทั่วถึงภิกษุทุกรูป พึงฉันบิณฑบาตโดยเคารพ

พึงมีความสำคัญในบาตรฉันบิณฑบาต

พึงฉันบิณฑบาตตามลำดับ ไม่พึงฉันบิณฑบาตขยุ้มแต่ยอดลงไป

ไม่พึงกลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุกเพราะอยากได้มาก

ไม่อาพาธ ไม่พึงขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน

ไม่พึงแลดูบาตรของภิกษุเหล่าอื่นด้วยหมายจะยกโทษ

ไม่พึงทำคำข้าวให้ใหญ่นัก พึงทำคำข้าวให้กลมกล่อม

เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก ไม่พึงอ้าปาก

กำลังฉัน ไม่พึงสอดมือทั้งหมดเข้าในปาก

ปากยังมีคำข้าวไม่พึงพูด ไม่พึงฉันเดาะคำข้าว

ไม่พึงฉันกัดคำข้าว ไม่พึงฉันทำกะพุ้งแก้มให้ตุ่ย

ไม่พึงฉันสลัดมือ ไม่พึงฉันทำเมล็ดข้าวตก

ไม่พึงฉันแลบลิ้น

ไม่พึงฉันทำเสียงดังจั๊บ ๆ ไม่พึงฉันทำเสียงซู๊ดๆ

ไม่พึงฉันเลียมือ ไม่พึงฉันขอดบาตร

ไม่พึงฉันเลียริมฝีปาก ไม่พึงรับโอน้ำด้วยมือเปื้อนอามิส

พระเถระไม่พึงรับน้ำ (ล้างบาตรเปื้อน) ก่อนจนกว่าภิกษุทั้งหมดฉันเสร็จ

เมื่อเขาถวายน้ำ พึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับน้ำ พึงค่อย ๆ ล้างบาตรถือต่ำ ๆ ให้ดี อย่าให้ครูดสี ถ้ากระโถนมี พึงค่อย ๆ เทน้ำลงในกระโถน ด้วยคิดว่ากระโถนอย่าเลอะเทอะด้วยน้ำ ภิกษุใกล้เคียงอย่าถูกน้ำกระเซ็น ผ้าสังฆาฏิอย่าถูกน้ำกระเซ็น

ถ้ากระโถนไม่มี พึงค่อย ๆ เทน้ำลงบนพื้นดิน ด้วยคิดว่า ภิกษุใกล้เคียงอย่าถูกน้ำกระเซ็น ผ้าสังฆาฏิอย่าถูกน้ำกระเซ็น

ไม่พึงเทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน

เมื่อกลับ ภิกษุใหม่พึงกลับก่อน พระเถระพึงกลับทีหลัง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล วัตรในโรงฉันของภิกษุทั้งหลาย ซึ่งพึงประพฤติเรียบร้อยในโรงฉัน

(๗/๔๒๕/๑๕๐-๑๕๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถรานุเถระอนุโมทนาในโรงฉัน     

(๗/๔๒๑-๔๒๒/๑๔๙) 

อาหาร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นผู้แจกอาหาร และสิ่งของ คือ

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ

๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง

๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย

๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ

๕. รู้จักภัตรที่แจกแล้วและยังมิได้แจก

(๗/๓๒๖-๓๓๑/๙๕-๙๗)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารที่ต้องอุ่น (๕/๕๐/๔๙)

เราอนุญาตให้เก็บอาหารไว้ ณ ภายในได้ (๕/๕๑/๔๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่ภิกษุถูกต้องแล้วได้ (๕/๕๒/๕๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว ฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน ซึ่งนำมาจากสถานที่ฉัน (๕/๕๓/๕๒) และที่เกิดในป่า เกิดในสระบัว (๕/๕๕/๕๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้เพาะพันธุ์ไม่ได้ หรือที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว ยังมิได้ทำกัปปิยะ ก็ฉันได้ (๕/๕๖/๕๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๕๙/๕๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๖๐/๕๙-๖๑)

 

สิ่งที่เป็นกัปปิยะ

(จุลวรรค)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ ๕ อย่าง คือ

๑. ผลไม้ที่ลนด้วยไฟ
๒. ผลไม้ที่กรีดด้วยศัสตรา
๓. ผลไม้ที่จิกด้วยเล็บ
๔. ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด
๕. ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว (๗/๒๕/๘)

 

ข้าวยาคูและขนมหวาน

พระพุทธานุญาตข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนข้าวยาคู และขนมหวานฉันเถิด

ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัดความหิว ๑
บรรเทาความระหาย ๑
ทำลมให้เดินคล่อง ๑
ล้างลำไส้ ๑
ย่อยอาหารใหม่ที่เหลืออยู่ ๑

ผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่าให้อายุ ๑
ให้วรรณะ ๑
ให้สุข ๑
ให้กำลัง ๑
ให้ปฏิภาณ ๑ (๕/๖๑/๖๒)

 

เภสัชธรรมชาติ

เภสัชชขันธกะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช บริโภคได้ทั้งในกาลทั้งนอกกาล (๕/๒๕-๒๖/๓๐-๓๒)

อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป พึงปรับอาบัติตามธรรม (๕/๔๗/๔๖)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันเปลวเป็นเภสัช คือ น้ำมันเปลวหมี น้ำมันเปลวปลา น้ำมันเปลวปลาฉลาม น้ำมันเปลวหมู น้ำมันเปลวลา ที่รับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล บริโภคอย่างน้ำมัน (๕/๒๗/๓๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตัวหินบด ลูกหินบดยา (๕/๒๘/๓๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นเภสัช คือ ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอมหรือขี้กา ใบกะเพราหรือแมงลัก ใบฝ้าย ก็หรือปัณณเภสัช แม้ชนิดอื่นใดบรรดามี เก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๓๐/๓๓)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ ก็หรือผลเภสัชแม้ชนิดอื่นใดบรรดามี เก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๓๑/๓๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี เก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ (๕/๓๓/๓๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัชชนิดผง สำหรับภิกษุผู้เป็นฝีก็ดี พุพองก็ดี สิวก็ดี โรคฝีดาษ หรืออีสุกอีใสก็ดี มีกลิ่นตัวแรงก็ดี เราอนุญาตโคมัย ดินเหนียว กากน้ำย้อม สำหรับภิกษุแม้ไม่อาพาธ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครก สาก (๕/๓๔/๓๕) เราอนุญาตผ้ากรองยา (๕/๓๕/๓๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า (๕/๓๖/๓๕)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ไม้จันทน์ กฤษณา กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู เราอนุญาตกลักยาตาที่ทำด้วยกระดูก งา เขา ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ยาง ผลไม้ โลหะ เปลือกสังข์ เราอนุญาตไม้ป้ายยาตา เราอนุญาตภาชนะสำหรับเก็บไม้ป้ายยาตา (๕/๓๗/๓๖-๓๗)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์ยา เราอนุญาตให้สูดควัน กล้องสูดควัน เราอนุญาตถุงกล้อง (๕/๓๘/๓๗-๓๘)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำมันเจือน้ำเมา ชนิดที่เขาหุงไม่ปรากฏสี กลิ่น และรสของน้ำเมา (๕/๓๙/๓๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเข้ากระโจม เราอนุญาตการรมด้วยใบไม้ต่างๆ (๕/๓๙/๓๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างน้ำ (๕/๓๙/๔๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก (๕/๔๐/๔๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาทาเท้า (๕/๔๑/๔๐)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการผ่าตัด ผ้าพันแผล (๕/๔๒/๔๐-๔๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน ให้ภิกษุหยิบบริโภคเองได้ (๕/๔๓/๔๑)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำด่างอามิส ยาผลสมอดองน้ำมูตร (๕/๔๔/๔๒)
เราอนุญาตให้ทำการลูบไล้ผิวด้วยของหอม(สำหรับภิกษุอาพาธด้วยโรคผิวหนัง) (๕/๔๔/๔๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาประจุถ่าย น้ำข้าวใส น้ำถั่วเขียวต้มข้นนิดหน่อย น้ำเนื้อต้ม (๕/๔๔/๔๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อย (ในยามวิกาล แม้ผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง) ตามสบาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้มแล้วก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวตามสบาย (๕/๔๘/๔๖)